“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การต่อสู้ครั้งนี้คือสงครามทางชนชั้นที่ประนีประนอมไม่ได้



1. การต่อสู้ของเสื้อแดงในรอบหลายปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น (class conflict/struggle) ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นนายทุนฝ่ายศักดินาอำมาตย์ (ชนชั้นนายทุนที่สะสมทุนบนการผูกขาดอภิสิทธิ์เหนืออำนาจรัฐ)

2. มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ คือ ชนชั้นกรรมาชีพ ที่ไร้ปัจจัยการผลิต ถึงมีปัจจัยการผลิตก็เพียงเล็กน้อยจนปราศจากอำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตและแรงงานของตนเอง - ใน "เมือง" (กรุงเทพฯและย่านตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ) คือ คนชั้นล่างที่ทำงานเป็นกรรมกรทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตั้งแต่กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม คนขับแท๊กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรรมกรภาคบริการ ฯลฯ -- ส่วนใน "ชนบท" คือ ชนชั้นล่างที่เป็นญาติพี่น้องพ่อแม่ของชนชั้นกรรมาชีพในเมือง (ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากกรรมาชีพในเมืองเป็นหลัก) และรวมถึงกรรมกรในภาคเกษตรด้วย - นี่คือ ฐานทางเศรษฐกิจ (economic base) ที่กำหนดความเป็นชนชั้น และโครงสร้างทางชนชั้น (class structure) ในมิติทางสังคมวิทยาของมวลชนเสื้อแดง


3. "ไพร่" ในที่นี้คือ อัตลักษณ์ทางชนชั้นที่สร้างขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ (class in action) เพื่อสื่อถึงความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น ความไม่เท่าเทียม การกดขี่ขูดรีด ความอยุติธรรมที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเผชิญตลอดทั้งในชีวิตประจำวันและในรอบหลายปีที่ผ่านมา

4. ปัญหาว่าทักษิณเป็นอำมาตย์หรือไพร่ไม่สำคัญ (แบบที่พวกนักวิชาการเสื้อเหลืองหรืออีแอบเสื้อขาว-หางเหลืองชอบตั้งคำถาม) – สิ่งที่น่าสนใจคือ ยิ่งมวลชนเสื้อแดงนิยามหรือยึดโยงตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์แบบ "ไพร่" หรืออัตลักษณ์แบบใดแบบหนึ่งที่คนประเภททักษิณเข้าพวกด้วยไม่ได้มากขึ้นเท่าไหร่ มันกลับยิ่งแสดงว่า การต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงยกระดับขึ้นจนข้ามพ้นตัวบุคคลมากขึ้นเท่านั้น – การชูอัตลักษณ์แบบไพร่จึงไม่ใช่จุดอ่อน แต่นี่คือจุดแข็งซึ่งหมายถึงการพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้น (class consciousness) ที่เกิดขึ้นผ่านการต่อสู้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

5. หัวใจของการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นก็คือ การสร้าง/แบ่งขั้วทางชนชั้น (class polarization) ให้แหลมคมและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

6. จิตสำนึกทางชนชั้นจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือเป็นสิ่งที่ฟ้าประทานมาให้ (given) แต่... ยิ่งมวลชนเสื้อแดงต่อสู้ไป จิตสำนึกทางชนชั้นจะยิ่งพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และความคาดหวัง/ข้อเรียกร้อง
(demands) ของมวลชนที่มีต่อขบวนการ (แกนนำ) จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งในระยะยาวขบวนการที่เรียกร้องเฉพาะหน้าจะไม่สามารถตอบสนองหรือหยุดยั้งเอาไว้ได้แค่การปฏิรูปสังคม (reform) แบบเปลือกผิวธรรมดา เพราะนี่คือสถานการณ์สงคราม – สงครามทางชนชั้น (class war)

7. ดังนั้น สงครามทางชนชั้นในครั้งนี้จะต้องเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะความขัดแย้งทางชนชั้นดังกล่าวเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นหลักที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ในระยะยาวภายใต้โครงสร้างทางอุดมการณ์ (อุดมการณ์แบบชุมชนนิยม, ชาตินิยม และกษัตริย์นิยมที่เคยนำมาใช้เพื่อลดทอน/ปกปิด/เบี่ยงเบนวิกฤตของความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2535 และ 2540), โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (การพัฒนาแบบทุนนิยมที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล) และโครงสร้างการเมืองแบบเก่า (ระบอบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยที่รวมศูนย์อยู่ที่คนไม่กี่คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยไม่เห็นหัวคนจน) ที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอดหลายสิบปี

8. นี่คือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือ สงครามชนชั้น - แต่การต่อสู้นี้จะไปถึงจุดไหน? ประนีประนอมได้หรือไม่?

9. คำตอบก็คือ การต่อสู้ครั้งนี้ต่างฝ่ายต่างก็ประนีประนอมไม่ได้ การปฏิรูปแค่เปลือกผิวโดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น -- ดังนั้น... การต่อสู้ครั้งนี้ต้องการการปฏิวัติสังคมขนาดใหญ่ (Revolution) แบบที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) และการปฏิวัติรัสเซีย (1917)

10. ในการต่อสู้เฉพาะหน้านี้อำมาตย์จะทำอย่างไร? -- รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นด่านหน้า/ป้อมปราการสำคัญของอำมาตย์จะไม่มีวันยุบสภาฯ อำมาตย์ต้องอาศัยหน้าฉากคือรัฐบาลอภิสิทธิ์เพื่อปราบปรามถอนรากถอนโคนฝ่ายตรงข้ามจนกว่าจะมั่นใจว่าฝ่ายตรงข้ามจะไม่มีวันกลับมาท้าทายได้อีกต่อไป -- หากปล่อยให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา อำมาตย์จะสูญเสียด่านหน้า/ป้อมปราการอันนี้อย่างไม่มีทางได้กลับคืนอีกต่อไป - ทางเลือกของอำมาตย์มีจำกัดเพียงไม่กี่ทาง คือ การทำรัฐประหารหรือไม่ก็ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงอีกครั้ง (แบบในกรณี 6 ตุลาฯ) ซึ่งเราต้องเตรียมตัวเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น -- โดยที่ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และแนวโน้มที่อำมาตย์จะถึงจุดจบอาจยิ่งมาถึงเร็วขึ้นอีก

11. เราต้องเข้าใจว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการสู้ยาวและยืดเยื้อ (หลายปี) -- ดังนั้น ในกระบวนการต่อสู้ขนาดยาวและยืดเยื้อเช่นนี้ ยังมีหลายขั้นหลายตอน (moment) ที่รออยู่ และมวลชนจะพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้นผ่านการเข้าร่วมการต่อสู้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังคาดเดาไม่ได้ ไม่แปลกที่ในบางขั้นบางตอนจะมีการชูตัวบุคคล แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตสำนึกความเป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่ได้รับการพัฒนา - การปฏิวัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ไม่ต่างกัน -- นี่คือสัจธรรมของการเปลี่ยนสังคม

12. ถ้านี่คือสัจธรรมของการเปลี่ยนสังคมขนาดใหญ่แบบการปฏิวัติ -- เสื้อแดงจึงต้องเดินเกมส์รุก โดยมียุทธวิธีแบบถอยบ้างรุกบ้าง โดยไม่คิดว่าจะจบในสองสามวันหรือสองสามเดือนนี้ แต่เป็นการต่อสู้แบบยืดเยื้อยาวนาน – สิ่งที่สำคัญคือ แกนนำจะต้องมีชุดคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลและชัดเจนต่อมวลชนถึงสถานการณ์ "การปฏิวัติสังคม" ขนาดใหญ่และกินเวลานานที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

13. ปล่อยให้พวกอำมาตย์คิดไปฝ่ายเดียวว่านี่เป็นแค่เรื่องระหว่างอำมาตย์กับทักษิณและทุกอย่างจะจบโดยเร็วโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือสละอะไร ส่วนฝ่ายเราก็วางแผนระยะยาวเพื่อทำสงครามชนชั้นจนกว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติสังคมขั้นแตกหัก

------------
บทความ "การต่อสู้ครั้งนี้คือสงครามทางชนชั้นที่ประนีประนอมไม่ได้" ถูกเผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาไท http://www.prachatai3.info/journal/2010/03/28605 เมื่อ 31 มีนาคม 53