บทความชิ้นนี้แปลจากบทความชื่อ "Why fear the Arab revolutionary spirit?" ซึ่งเขียนโดย Slavoj Žižek (สลาวอย ชิเชค) เผยแพร่ครั้งแรกใน guardian.co.uk เมื่อวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2011 (ดู Link http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2011/feb/01/egypt-tunisia-revolt) แปลโดย KK @ Iskra กลุ่มประกายไฟ
มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวสปิริตแห่งการปฏิวัติของโลกอาหรับ?
:ปฏิกิริยาของฝ่ายเสรีนิยมในโลกตะวันตกที่มีต่อการลุกขั้นสู้ในอียิปต์และตูนีเซียแสดงถึงความดัดจริตและความสิ้นหวังต่อมนุษยชาติ
โดย สลาวอย ชิเชค
แปลโดย KK @ Iskra กลุ่มประกายไฟ
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยสำหรับการลุกสู้ในตูนีเซียและอียิปต์ คือ การไม่ปรากฎตัวของแนวคิดมุสลิมเคร่งศาสนา. ในวิถีแห่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบทางโลกที่ดีที่สุดนั้น คือ การที่ประชาชนเพียงลุกสู้เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองที่กดขี่ การคอร์รัปชั่นและความยากจน รวมถึงการเรียกร้องเสรีภาพและความคาดหวังว่าเศรษฐกิจของพวกเขาจะดีขึ้น. ความคิดที่สิ้นหวังในมนุษย์ของพวกเสรีนิยมในโลกตะวันตกได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด ความคิดสิ้นหวังของพวกเสรีนิยมเชื่อว่า มีเพียงชนชั้นนำเสรีนิยมวงแคบๆเท่านั้นที่เข้าใจประชาธิปไตย ส่วนมวลชนส่วนใหญ่นั้นจะออกมาต่อสู้ทางการเมืองได้ก็เพียงอาศัยการปลุกระดมผ่านความคิดทางศาสนาและความคิดชาตินิยมเท่านั้น. คำถามที่สำคัญคือ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? ใครจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในทางการเมือง?
เมื่อรัฐบาลชั่วคราวถูกตั้งขึ้นในตูนีเซีย มันได้กีดกันฝ่ายมุสลิมและพวกฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าออกไป. ปฏิกิริยาของพวกเสรีนิยมอวดดีก็คือ “ดีแล้ว เพราะพวกนี้ (ทั้งพวกมุสลิมและพวกฝ่ายซ้าย-ผู้แปล) มีอะไรพื้นฐานที่เหมือนกัน นั่นคือ เป็นพวกเผด็จการรวมศูนย์แบบสุดโต่งทั้งคู่” – คำถามคือ เราสามารถสรุปได้ง่ายๆอย่างนั้นหรือไม่? จริงหรือที่ความเป็นปฏิปักษ์ในระยะยาวที่แท้จริงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมุสลิมและฝ่ายซ้าย? แม้ว่าในบางช่วงเวลาที่เมื่อทั้งสองพวกนี้ร่วมกันต่อต้านระบอบการเมืองใดระบอบหนึ่งแล้ว หลังจากที่ได้รับชัยชนะ เราก็จะพบว่า การร่วมมือกันก็จบสิ้นลง และทั้งสองกลุ่มก็หันมาสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย และออกจะดุเดือดยิ่งกว่าเมื่อครั้งร่วมกันโค่นล้มศัตรูตัวเดียวกันเสียอีก.
พวกเราไม่ได้เป็นพยานต่อการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายแบบที่ว่าภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอิหร่านหรอกหรือ? สิ่งที่ผู้สนับสนุน Mousavi หลายแสนคนสะท้อนออกมาก็คือ ความฝันของมวลมหาประชาชนว่าด้วยการปฏิวัติของโคไมนี นั่นคือ เสรีภาพ และความยุติธรรม. แม้ว่าจะเป็นความเพ้อฝันแบบอุดมคติ แต่มันก็นำไปสู่การระเบิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ของพลังแห่งการสร้างสรรค์ทางการเมืองและสังคม การทดลองจัดองค์กรในหลายรูปแบบ และการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและคนธรรมดา. ภาพการเผยตัวอย่างแท้จริงนี้ได้เปิดให้เราเห็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราไม่เคยได้ยินเสียงมาก่อน พลังเหล่านี้ค่อยๆกลั่นตัวขึ้นผ่านการยึดการควบคุมทางการเมืองคืนจากชนชั้นปกครองอิสลาม และนี่คือ ช่วงเวลาหนึ่งที่ทุกสิ่งทุกอย่างอาจเกิดขึ้นได้.
เราไม่ควรละเลยองค์ประกอบทางสังคมของขบวนการต่างๆ แม้แต่ในกรณีของขบวนการเคร่งศาสนาที่ชัดเจนที่สุด. ในขณะที่ทาลีบันมักจะถูกนำเสนอว่าเป็นกลุ่มมุสลิมที่เคร่งศาสนาที่ปกครองสังคมด้วยความชั่วร้ายรุนแรง. แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2009 ที่พวกเขาสามารถยึดพื้นที่ Swat valley ในปากีสถาน นิวยอร์คไทม์สรายงานว่า พวกเขากำลังสร้าง “การต่อสู้ทางชนชั้นที่ใช้โอกาสของรอยปริแตกระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินที่ร่ำรวยกลุ่มเล็กๆกับชาวนาไร้ที่ดิน.” หากนี่เป็นการ “หาประโยชน์” จากสภาพอันเลวร้ายของชาวนา ทาลีบันก็กำลังสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่นิวยอร์คไทม์สเรียกว่า “การส่งสัญญาณเตือนภัยต่อปากีสถาน ที่ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นสังคมแบบฟิวดัลอยู่” ปัญหาก็คือ อะไรล่ะที่ทำให้พวกเสรีนิยมประชาธิปไตยในปากีสถานและสหรัฐฯทำในสิ่งเดียวกันคือ นั่นคือ การไม่ “หาประโยชน์” โดยการเข้าไปช่วยเหลือชาวนาไร้ที่ดินเหล่านั้น? หรือว่าฝ่ายเจ้าที่ดินในปากีสถานคือพันธมิตรโดยธรรมชาติกับพวกเสรีนิยม?
ข้อสรุปที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ กระแสการก่อตัวของความคิดอิสลามหัวรุนแรงมักจะเป็นด้านกลับของการเสื่อมถอยไปของฝ่ายซ้ายที่ไม่ยึดศาสนาเป็นแนวในการต่อสู้ในประเทศมุสลิมทั้งหลาย. ในขณะที่อัฟกานิสถานถูกวาดภาพให้เป็นประเทศคลั่งศาสนาอิสลามแบบสุดขั้ว จะมีใครระลึกได้บ้างหรือไม่ว่า เมื่อ 40 ปีก่อน ประเทศนี้เคยมีวิถีการต่อสู้ที่ไม่อ้างอิงความคิดทางศาสนาที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง หรือแม้แต่การที่ประเทศนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจรัฐที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต? แล้ววิถีทางที่ไม่อิงกับศาสนาเช่นว่านั้นมันหายไปไหน?
และนี่เป็นโอกาสสำคัญที่การทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตูนีเซียและอียิปต์ (รวมถึงเยแมน และ... หรือแม้แต่ – หวังว่า - ซาอุดิอาราเบีย) จากพื้นฐานความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวไปแล้ว. หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถูกแช่แข็งเพื่อให้ระบอบเก่ารอดชีวิตอยู่ได้ด้วยการปะแป้งแต่งหน้าใหม่ให้มีความเป็นเสรีนิยมเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงของกระแสคลั่งศาสนา. หากต้องการปกป้องมรดกทางความคิดแบบเสรีนิยมให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเสรีนิยมต้องสนับสนุนฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไข. กลับมาที่อียิปต์ ปฏิกิริยาแบบฉวยโอกาสที่ไร้ความละอายและอันตรายที่สุดก็คือ คำกล่าวของ โทนี่ แบลร์ ดังที่รายงานโดย CNN ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันควรจะเป็นย่างก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพ. (การพูดเช่นนี้หมายความว่า – ผู้แปล) การเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพในอียิปต์วันนี้มีความหมายอย่างเดียวก็คือ การประนีประนอมกับฝ่ายมูบารัคโดยการเปิดให้ชนชั้นปกครองหลายกลุ่มเข้ามาสู่แวดวงของอำนาจได้เพิ่มขึ้น. นี่คือสาเหตุที่เราต้องสรุปว่า การเปลี่ยนผ่านแบบสันติในปัจจุบันซึ่งมีความหมายเท่ากับการกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลคือสิ่งที่น่าขยะแขยง และที่สำคัญ มูบารัคเองก็คือคนที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติดังที่ว่าไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จริง. ทันทีที่มูบารัคส่งทหารไปปราบปรามผู้ประท้วง เราจะเห็นทางเลือกที่มีอยู่ชัดขึ้นมาทันที คือ เราจะเอาการเปลี่ยนแปลงแบบลูบหน้าปะแป้งเล็กๆน้อยๆโดยที่ทุกอย่างยังคงอยู่เหมือนเดิม หรือ เราจะสร้างการแตกหักอย่างแท้จริง.
นี่คือ ช่วงเวลาของความจริง เราไม่สามารถอ้างได้อีกแล้ว ดังที่เราเคยอ้างมาก่อนในกรณีของอัลจีเรียว่า การปล่อยให้มีการเลือกตั้งแบบอิสระโดยแท้มีค่าเท่ากับการให้อำนาจแก่ฝ่ายมุสลิมเคร่งศาสนา. ความกังวลอีกประการของพวกเสรีนิยมก็คือ การที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองในลักษณะที่เป็นองค์กรที่จะเข้าปกครองสังคมภายหลังจากที่มูบารัคพ้นจากอำนาจ. แน่นอน มันไม่มี (แต่) สาเหตุเกิดจากมูบารัคใช้ทุกวิถีทางที่จะลดทอนและผลักไสฝ่ายตรงข้ามทุกกลุ่มให้อยู่ชายขอบให้มากที่สุด เพื่อที่ผลของมันจะได้ออกแบบที่ อกาธา คริสตี ตั้งชื่อนิยายของเธอว่า ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรเลย. การให้เหตุผลของพวกเสรีนิยมที่ปกป้องมูบารัคก็คือ การให้เหตุผลที่ย้อนกลับไปทำลายมูบารัคเอง นั่นคือ ไม่จะเอามูบารัค หรือจะเอาความวุ่นวาย
ความดัดจริตของพวกเสรีนิยมในโลกตะวันตกเด่นชัดจนไม่สามารถจะปกปิดได้อีกต่อไป พวกเขาสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างออกนอกหน้าในที่สาธารณะ แต่ในขณะปัจจุบันที่ประชาชนกำลังลุกขึ้นต่อสู้กับทรราชในนามของเสรีภาพและความยุติธรรมแบบทางโลก ที่ไม่ใช่การอ้างอิงแนวคิดทางศาสนา พวกเขากลับหวาดกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น. คำถามคือ ทำไมถึงต้องหวาดระแวง ทำไมถึงไม่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อเสรีภาพในเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว? ณ เวลานี้ คำขวัญเก่าของ เหมา เจ๋อตุง มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “เมื่อความโกลาหลอันใหญ่หลวงเกิดขึ้นภายใต้สรวงสวรรค์ – นี่ละคือสถานการณ์ที่ดีที่สุดของเรา”
ต่อคำถามที่ว่า มูบารัคควรจะไปไหน? ขณะนี้คำตอบแสนจะชัดเจน นั่นคือ ไปกรุงเฮก (ขึ้นศาลโลก-ผู้แปล). หากจะมีผู้นำคนใดควรไปนั่งที่นั่นในเวลานี้ คนนั้นก็คือ มูบารัค.