“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทเรียน 14 ตุลา : ขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าต้องไม่ลืมปัญหาปากท้อง.

บทเรียน 14 ตุลา : ขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าต้องไม่ลืมปัญหาปากท้อง....


ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี*

“วาทกรรมของกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์14ตุลา ทิ้งไว้คือ ภาพนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นพลังบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากนักการเมือง บริสุทธิ์จากทุน บริสุทธิ์จากอคติ บางครั้งความคาดหวังเลยเถิดไปถึงการบริสุทธิ์จากอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งไม่เคยมีขบวนการใดในโลกที่บริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกับวาทกรรมนี้”

คงไม่ช้าเกินไปหากจะเขียนเกี่ยวกับ เหตุการณ์ 14 ตุลา ...แม้รัฐบาลพยายามที่จะโฆษณาและสร้างวาทกรรมใหม่เกี่ยวกับ 14ตุลา ให้กลายเป็นการเฉลิมฉลองของการปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเหตุการณ์14ตุลา เป็นผลงานของลูกหลานชนชั้นกลาง พลังนักศึกษาอันบริสุทธิ์ เหตุการณ์14 ตุลาจบลงอย่างสวยงาม ตามมุมมองของนักประวัติศาสตร์รับใช้อภิสิทธิ์ชน มันเป็นเพียงความคลาดเคลื่อนของความเข้าใจของประชาชนผู้หวังดีทั้งฝ่ายรัฐบาลทรราชและนักศึกษา...ความปรองดองก็สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยการคุยและทำความเข้าใจ...คำพูดเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำทุกวันเวลาหัวค่ำ จากสถานีวิทยุยานเกราะคลื่น 103.0 ผู้จัดรายการมักจะแสดงความเห็นว่า “เหตุการณ์รุนแรงกว่านี้(วันที่19พฤษภาคม) คนไทยเรายังอภัยกันได้เลย”

ในบทความนี้คงไม่แสดงถึงเบื้องหลังเบื้องลึกเหตุการณ์ 14ตุลา ทุกท่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ ในงาน อ.กุลลดา เกษบุญชู ซึ่งได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับ 14ตุลาที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจระดับโลก มากกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูกหลานชนชั้นกลาง...ในหนังสือเล่มนี้ทำให้เราสามารถตีความต่อไปได้อีกว่า...อะไรคือเหตุผลของโศกนาฏกรรมในอีกสามปีถัดมา ที่คนไทย จำไม่ได้และก็ลืมไม่ลง งานของ อ.กุลลดา เป็นตัวอย่างงานชิ้นสำคัญที่มิค่อยมีการพูดถึงในการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เท่าไรนัก ส่งผลให้ภาพของขบวนการนักศึกษาทั้งในแง่มุมมองประวัติศาสตร์ และการเคลื่อนไหวปัจจุบัน จึงเป็นภาพของพลังบริสุทธิ์ นักฝัน และความเป็นกลางแบบเลื่อนลอย

หากมองผ่านแว่นโครงสร้างเศรษฐกิจระดับโลกตามที่ ปรากฏในงานของ อ.กุลลดา พลังนักศึกษาจึงไม่ใช่แค่ คนหนุ่มสาวที่รับรู้ทฤษฎีตะวันตกและกระหายจะเปลี่ยนแปลงโลกตามตำรา ขบวนการนักศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นอิสระ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบไร้ความหมาย มีเฉดสีที่มากมายในขบวนการ ทั้งนักศึกษาที่อิงกับสถาบันกษัตริย์ นักศึกษาแนวเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA กลุ่มจัดตั้งของทหารฝ่ายตรงข้ามถนอมประภาส และกลุ่มนักศึกษาเอียงซ้ายที่มีการจัดตั้งจาก พคท. สิ่งหนึ่งที่ขบวนการนักศึกษารุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจ คำว่าชัยชนะของ14 ตุลาคม หาได้เกิดเพราะความสามัคคีบริสุทธิ์ ของนักศึกษาหากแต่เกิดจากกลุ่มอำนาจหนึ่ง สามารถนิยามว่า “เท่านี้คือชัยชนะ”ที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีมากกว่านี้....

วาทกรรมของกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์14ตุลา ทิ้งไว้คือ ภาพนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นพลังบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากนักการเมือง บริสุทธิ์จากทุน บริสุทธิ์จากอคติ บางครั้งความคาดหวังเลยเถิดไปถึงการบริสุทธิ์จากอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งไม่เคยมีขบวนการใดในโลกที่บริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกับวาทกรรมนี้ แม้แต่ขบวนการศาสนาของโบสถ์คาธอลิกก็ตาม

ภายหลังเหตุการณ์ 6ตุลา การนิรโทษกรรม พร้อมกับกองทัพซ้ายอกหักที่เข้าสู่ขบวนการภาคประชาชนและเริ่มมี อิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษารุ่นหลัง พวกเขาก็พร้อมใจกันผลิตซ้ำวาทกรรมนี้ ขบวนการนักศึกษากลายเป็น วีรชน นักบุญ กาวใจ ผู้อุทิศตน ฯลฯ เรื่องราวสิบสี่ตุลา หกตุลา และช่วงเวลาอกหักของพวกเขาในป่า ถูกเสริมแต่งไม่ต่างจากชีวประวัติของเทพปกรนัม ในบ้านเมืองนี้ แต่พวกเขากลับสรุปอย่างน่าตลกและขัดแย้งในตัวเองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของเมื่อวาน โลกอุดมคติของวัยเยาว์ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยกลายเป็นพลังปฏิกริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ และส่งผลให้แนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษารุ่นหลัง กลายเป็นเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การอุทิศตนตามค่ายอาสาพัฒนาชนบท แบบเดียวกับที่เหล่าซ้ายอกหักเคยทำในทศวรรษ 1970 (เป็นเรื่องตลกที่ค่ายอาสาชนบทยังคงเป็นภารกิจหลักของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาแทบทุกมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่ชาวนาโดยมากทำ Contract Farming กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคนจนโดยมากอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในเมือง) ขบวนการนักศึกษารุ่นหลังจึงถูกลดทอนให้มีผลอย่างมากในการเป็นที่ฝึกงานของว่าที่เจ้าหน้าที่ NGOs ที่มีประเด็นเฉพาะ เช่น การต้านเขื่อน สิทธิที่อยู่อาศัย การศึกษา มากกว่าขบวนการที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์ หกตุลา หรือขบวนการนักศึกษาในยุโรป อันมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับปัญหาในชีวิตประจำวันของคนจนเมือง โดยมีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทน

เป็นอีกครั้งที่ขบวนการนักศึกษาต้องไปให้พ้นจากวาทกรรมนี้....มากกว่าเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่รัฐบาลพยายามเสริมแต่งและฉกฉวย แต่หมายรวมถึงมุมมองต่อขบวนการนักศึกษาด้วยเช่นกัน โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1.ความเป็นกลางและความบริสุทธิ์ เป็นเพียงวลีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดทอนพลังของขบวนการใดๆก็ตามที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงสังคม ตามประวัติศาสตร์ของขบวนการทางสังคมไม่มีขบวนการใด”บริสุทธิ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริสุทธิ์จากอุดมการณ์...อันหมายถึงการพูดถึงสังคมที่ควรเป็นและตอบสนองซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ดังนั้นขบวนการจำเป็นต้องตั้งคำถามอีกว่า สังคมที่ดีพึงมีลักษณะอย่างไร ใครคือผู้ที่ควรได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับขบวนการอื่นๆ เราต้องหลุดจากกรอบ นามธรรมที่เลื่อนลอย เช่น “ประชาธิปไตย”,”รัฐธรรมนูญ”,”ยกเลิกสังคมสองมาตรฐาน”,”ต้านอำนาจนอกระบบ”,”สิทธิมนุษยชน” วลีเหล่านี้อาจมีพลังในการต่อสู้และการขับเคลื่อนประเด็น แต่ในที่สุดแล้วหากไม่มีข้อเสนอรูปธรรมเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตประจำวัน การต่อสู้ย่อมไร้ความหมาย และถูกฉกฉวยประโยชน์ไปเฉกเช่นเหตุการณ์14ตุลา

2.ปัญญาชนมีชนชั้นเสมอ ขบวนการนักศึกษาทศวรรษที่ผ่านมา (2000-2010)มักหมกมุ่นกับการสร้างแนวร่วมเน้นปริมาณและความเป็นปึกแผ่นของนักศึกษา บางครั้งเราอาจตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด องค์กรนี้จึงมีความคิดแบบนี้...ทำไมเขาจึงต่อต้านเรา หรือกระทั่งในแวดวงวิชาการเองก็เช่นกันบางครั้งเราคาดหวังพฤติกรรมที่มีอารยะจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อกิจกรรมนักศึกษา แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง...สิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นแค่เมืองไทย หากแต่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วโลกเช่นเดียวกัน มีเหตุผลอะไรที่เราต้องสร้างแนวร่วมกับขบวนการนักศึกษาฝ่ายขวา ที่สนับสนุนรัฐประหาร การสังหารประชาชน ในขณะเดียวกันคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นกระบอกเสียงให้กับอุดมการณ์ที่หลากหลายเช่นกัน ดังนั้นนอกจากกำจัดภาพว่าเราเป็นองค์กรบริสุทธิ์แล้ว สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับความบริสุทธิ์เช่นกัน

3.เป็นเรื่องน่ายินดี ในช่วงปีที่ผ่านมาขบวนการนักศึกษาที่เติบโตขึ้น นอกจากก้าวพ้นวาทกรรม ชาติ ศาสนา กษัตริย์ ดังเช่นปรากฏในการโฆษณาของรัฐบาลผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ ขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าปัจจุบันมีความแตกต่างจากขบวนการเมื่อสองทศวรรษก่อน ที่มุ่งขับเคลื่อนเป็นประเด็น ตามแบบฉบับผู้อุทิศตน ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาก้าวหน้า กลายเป็นหัวหอกการถกเถียงประเด็นด้านโครงสร้าง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่ในการถกเถียงอย่างขาดไม่ได้คือ เรื่องปากท้อง และชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขบวนการนักศึกษาต้องไม่ปฏิเสธการปฏิรูป (ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมกับคณะปฏิรูปฯปัจจุบัน)....อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในชีวิตประจำวันย่อมสามารถกรุยทาง สู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับใหญ่ได้เช่นกัน ดังตัวอย่างเรื่องการแปรรูปมหาวิทยาลัย อันส่งผลต่อผลประโยชน์โดยตรงของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความเปราะบางขึ้นและตัดโอกาสทางการศึกษาของคนยากคนจน ขบวนการนักศึกษามีจุดยืนอย่างไร การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน อันเป็นเงื่อนไขลดทอนกลุ่มอำนาจอภิสิทธิ์ชนก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด รวมถึงรูปธรรมทางนโยบายเศรษฐกิจ อย่างรัฐสวัสดิการที่ทำให้ไพร่ ผู้ดี มีความเป็นคนเท่ากัน ก็ยังเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ต่างประเทศขบวนการนักศึกษาเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่หากแต่ไม่ได้ตัดขาดจากเงื่อนไขชีวิตประจำวัน พวกเขามีสายสัมพันธ์กับองค์กรที่ต่อสู้เพื่อเงื่อนไขชีวิตประจำวัน เช่นสหภาพแรงงาน ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการต่อต้านสงครามและลัทธิคลั่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขด้านสวัสดิการด้านการศึกษา เมื่อใดที่การต่อสู้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์จะเผยให้เห็นถึงปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง วาทกรรมชุดใหม่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวยุติ เมื่อนั้นขบวนการนักศึกษาต้องมีความชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายและเงื่อนไขที่จะสร้างสังคมที่พึงประสงค์สำหรับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

บทความชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ ประชาไท เมื่อ Sat, 2010-10-16 ดูhttp://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31510

---------------------------------------
หมายเหตุ

*ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสมาชิกกลุ่มประกายไฟ

ภาพประกอบนี้เป็นเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลา 16 @ ถนนราชดำเนิน

-----------------------------------------
ภาคผนวก

Comment ต่อบทความโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่มา http://www.prachatai3.info/node/31510/talk

ความคิดเห็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (visitor) (127.0.0.1 124.120.83.241) .. Sat, 2010-10-16 06:28
บอกตรงๆว่า ผมอ่านไม่รู้เรื่อง พูดจริงๆนะ ไม่ได้ประชด อ่านไม่รู้เรื่องจริงๆว่า ผู้เขียนกำลังเขียนถึงอะไรในแต่ละย่อหน้า หรือบางที แต่ละประโยค

เท่าท่รู้เรื่องอยู่ประเด็นหนึ่งคือที่กล่าวถึงงานของกุลลดา (แต่ไม่รู้เรื่อง ว่า เชื่อมโยงกับที่ผู้เขียนต้องการจะเสนออย่างไร เพราะผู้เขียนต้องการจะเสนออะไรก็ไม่ทราบ)

ก่อนอื่น ผมนับถือกุลลดาที่ขยันค้นคว้าเอกสารจาก หอจดหมายเหตุของวอชิงตัน และลอนดอน บางครั้งผมได้ประโยชน์มหาศาลจากข้อมูลเหล่านี้ (อ.กุลลดา ยังเคยให้ผมดูต้นฉบับบางเอกสารด้วย)

แต่งานเรื่อง 14 ตุลา โดยรวมของกุลลดา ผมว่า มีลักษณะ conspiracy theory มากเกินไป (มีหลายจุดที่ดูเหมือนผู้เขียนบทความนี้ จะพูดทำนองเดียวกัน แต่ขาดการระบุชัดเจนยิ่งกว่า กุลลดา)

คือพยายามจะหา "เบื้องหลัง" ในแง่ของ การวางแผน โดยกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ (ซีไอเอ ฯลฯ) ทั้งๆที่หลักฐานที่อ้าง ไม่สนับสนุน

อีกอย่าง อันนี้ ผมเคยวิจารณ์ในงานสัมมนางานของกุลลดา แต่ไม่แน่ใจว่า เป็นที่เข้าใจกันไหม เพราะงานมันใหญ่ คนพูดกันเยอะ คือ เรื่อง nature ของเอกสาร หอจดหมายเหตุอเมริกัน คือ พวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือรายงานการทูต ซึ่งไม่ใช่ว่า ข้อมูลจะถูกหมด บ่อยครั้ง ก็เป็นเพียงข่าวลือ (กลุ้่มไหน เป็นกฃุ่มไหน แบ่งยังไง) ปัญหาคือ กุลลดา มีแนวโน้มที่จะ treat พวกนี้ at face value (คือ เอกสารมีอย่างไร ก็ถือว่าเป็นอย่างนั้น) อีกประเด็นหนึี่ง ที่ผมเห็นว่าสำคัญคือ เอกสารการทูตพวกนี้ ถ้ายิ่งสมัยใหม่เท่าไร ก็ยิ่งประโยชน์น้อย คือยิ่งใกล้ยุคปัจจุบันเท่าไร ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลที่หาได้จากหน้า นสพ. (แม้แต่พวกข่าวลือ ข่าวกรอง) คือถ้าเป็นสมัยก่อน 2500 ขึ้นไป นสพ. ไม่มาก และไม่รายงานข่าวละเอียด พวกนี้ ก็มีประโยชน์ แต่ยิ่งสมัยหลัง พวกนี้มันเต็มไปหมด รายงานการทูตพวกนี้ ความจริง ก็ไม่ได้มีอะไรลึกกว่าตามแหล่งข่าว นสพ.มากนัก

ผมว่า ผู้เขียน ถ้าต้องการศึกษาเรื่อง 14 ตุลา ควรอ่านเอกสารในช่วงนั้น ซึี่งยังมีอยู่เยอะให้มากๆก่อน และอ่านงานอย่างของ ประจักษ์ หรือ แม้แต่ชาญวิทย์ ก่อน ศึกษาและคิดด้วยตัวเองให้ดีๆ อ่านในรายละเอียดเยอะๆ แน่นอนงานของกุลลดาก็อ่านด้วย แต่ผมว่า ในแง่ข้อมูลต่างๆ งานกุลลดายังไม่ค่อยดีนัก เห็นอะไรเป็นเรื่อง conspiracy มากไป

ความคิดเห็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (visitor) (127.0.0.1 124.120.83.241) .. Sat, 2010-10-16 06:33
อ้อ อีกนิด อันนี้สำคัญ
การที่"ระบบโลก" หรือระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ(ประเทศ) มีอิทธิพลสำคัญต่อความเป็นไปในประเทศทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง ไม่ได้หมายความว่า การกระทำทุกอย่างของ actors ในประเทศ จะต้องมาจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ("ระเบียบโลก") เสมอไป การอธิบายว่าการกระทำทุกอย่างหรือแทบทุกอย่างของ actors ต่างๆในประเทศ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน (ขบวนการ นศ. ฯลฯ) มาจาก ความสัมพันธ์ในเชิงระหว่างประเทศ (อิทธิพล คำสั่ง ฯลฯ สหรัฐ ซีไอเอ "ระบบโลก" ฯลฯ) เป็นการมองแบบ reductionist มากไป ซึ่งงานกุลลดา มีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

ความคิดเห็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (visitor) (127.0.0.1 124.121.252.52) .. Sat, 2010-10-16 08:40
ผมจะยกตัวอย่างให้ดู ว่า ที่ผมอ่านไม่รู้เรื่อง หมายความยังไง ข้อความนี้ ซึ่งประชาไท เอาขึ้นโปรยหัวรอง เป็นตัวอย่างที่ดี (ตลอดบทความมีลักษณะเดียวกันนี้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว)
[/color=#0000FF]“วาทกรรมของกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์14ตุลา ทิ้งไว้คือ ภาพนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นพลังบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากนักการเมือง บริสุทธิ์จากทุน บริสุทธิ์จากอคติ บางครั้งความคาดหวังเลยเถิดไปถึงการบริสุทธิ์จากอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งไม่เคยมีขบวนการใดในโลกที่บริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกับวาทกรรมนี้”[/color]

พอผมอ่าน ผมก็งง เลย "กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา" ของผู้เขียน นี่หมายถึง กลุ่มอะไร ผมพอนึกออกอยู่ว่า "กลุ่มทีได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา" คือใคร แต่ "กลุ่ม" ดังกล่าว ไม่ได้สร้าง "วาทกรรม" แบบที่ผู้เขียนบรรยายในประโยคต่อมาเลยครับ ตรงข้าม หลัง 14 ตุลา มีแต่การสร้าง "วาทกรรม" (สมัยนั้นไม่มีคำนี้ ความจริง การเขียนแบบนี้มีลักษณะ ที่ฝรั่งเรียกว่า anachronism ผิดเวลา อยู่ไม่น้อย แต่ผ่านไปได้) เรื่อง นักศึกษาอยู่ใต้อุดมการคอมมิวนิสม์ (ไม่ใช่ "บริสุทธิ์จากอุดมการณ์" แบบที่ผู้เขียนว่า "กลุ่มทีได้ประโยชน์" สร้างขึ้นหลัง 14 ตุลา) หรือ นักศึกษา ไม่ใช่ "พลังบริสุทธิ์" เรื่อง "บริสุทธิ์จากอคติ" ฯลฯ อะไรทั้งหลายที่เขียนมาก็เหมือนกัน "กลุ่มที่ได้ประโยชน์" หลัง 14 ตุลา พูดถึงนักศึกษาคนละอย่างชนิดตรงข้ามกับที่ผู้เขียนเขียนมาเลยครับ

ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ใครที่พอรู้เรื่องหลัง 14 ตุลา ก็รู้ดีกันทั้งนั้น ผมก็เลยงงว่า ข้อความย่อหน้าดังกล่าว หมายความว่าอะไรกันแน่ เพราะไม่ได้กำลังบรรยายเรือ่งจริงทีเกิดขึ้นหลัง 14 ตุลา แน่ๆ มันก็เลยอ่านไม่รู้เรื่อง (ไม่ make sense) แต่อย่างใดทั้งสิ้น

แม้แต่ชื่อบทความ "บทเรียน 14 ตุลา" ... เรือ่ง "ไม่ลืมปัญหาปากท้อง" นีก็เหมือนกัน (ซึ่งในตัวบทความแทบจะไม่ได้นำเสนอ argument สนับสนุนเลย เหมือนขึ้นชื่อบทความมาลอยๆยังงั้นเอง) ความจริงคือ ทั้งขบวนการนักศึกษา หลัง 14 ตุลาโดยตรง ไล่เรียงมาถึงบรรดาขบวนแอ๊คติวิสต์ ทั้่งหลายในปัจจุบัน จุดสำคัญในวิธีคิดอย่างหนึ่ง คือการคิดที่ชอบโยงเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเชิง "เศรษฐกิจ" หรือ "ปัญหาปากท้อง" ทั้งนั้น (นึกถึง "วาทกรรม" เรื่อง "คนจน" "ชาวบ้าน" หรือแม้แต่เรื่อง "รัฐสวัสดิการ" ที่พูดกันในหมู่คนเหล่านี้) แต่เรื่องที่เป็นการเมือง ในความหมาย โครงสร้างอำนาจ รูปแบบการเมืองควรเป็นแบบใด ฯลฯ เป็นจุดอ่อนของวิธีคิดของคนเหล่านี้มาตลอ