กลุ่มประกายไฟ
19 ตุลาคม 2552
ในขณะที่เศรษฐกิจของสังคมไทยและสังคมโลกกำลังตกต่ำซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสมอ รวมทั้งปัญหาวิกฤตพลังงานที่ยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ การคมนาคมขนส่งของประเทศโดยเฉพาะรถเมล์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพ
รัฐบาลซึ่งควรมีหน้าที่โดยตรงในการให้หลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสิทธิในการคมนาคมสาธารณะแก่ประชาชน แต่ในความเป็นจริงเวลานี้รัฐบาลกำลังพยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายทางการคมนาคมและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประชาชนจากการประกาศนโยบายเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนายโสภณซารัมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ โดยรัฐบาลอ้างว่าเพื่อเป็นการลดการขาดทุนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)
การประกาศนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานและผู้มีรายได้น้อยหรือคนจนในสังคมไทย ดังนี้
1.การใช้ระบบตั๋วอิเล็กโทรนิกส์(E-TICKET)นั้น ก่อให้เกิดการเลิกจ้างหรือการเกษียณอายุก่อนกำหนดของพนักงานขสมก. ซึ่งมีจำนวนมากถึง 6,000-7,000 คน เพื่อให้ขสมก.มีกำไรตามที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ต้องการ ซึ่งการเลิกจ้างงานดังกล่าวทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งขาดรายได้ คุณภาพชีวิตแย่ลง อาจลุกลามไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆได้
2.การใช้ระบบตั๋วอิเล็กโทรนิกส์ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสาร ซึ่งจะต้องมีการเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมเพื่อความคุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาล และผู้รับภาระอัตราค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นนั้นคือประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ไม่มากนัก รวมทั้งกระทบต่อนโยบายรถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน ซึ่งรัฐบาลเคยให้การโปรโมตไว้นั้นมีทีท่าว่าจะต้องยุติลง
3.การลดจำนวนพนักงานเก็บเงินและการนำระบบตั๋วอิเล็กโทรนิค(ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างขึ้นรถ)มาใช้อาจก่อให้เกิดการจราจรติดขัดมากขึ้น เนื่องจากความล้าช้าในการต่อคิวเพื่อจ่ายเงินค่าโดยสารผ่านระบบตั๋วอิเล็กโทรนิค ที่อาจทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นในการจอดรับส่งผู้โดยสารในแต่ละป้าย
จากทั้งสามประเด็นที่กล่าวมานั้น เราเห็นว่าประชาชนคนรากหญ้าก็จะต้องรับภาระด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันของรัฐบาลจึงควรจะมีมาตรการและสวัสดิการรองรับความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ต้องรับภาระทางเศรษกิจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เราจึงเสนอให้
1.ในส่วนของแรงาน ขสมก. ที่จะได้รับผลกระทบนั้น การที่ ขสมก. จะเลิกจ้างหรือให้เกษียรอายุก่อนกำหนดหรือจะใช้มาตราการใดๆจะต้องคำนึงถึงความสมัครใจเป็นสิ่งสำคัญ และควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงภาครัฐต้องมีมาตรการรองรับคุณภาพชีวิตของบุคคลเหล่านั้น ที่มิใช่เพียงแค่เงินทดแทน(“ชดเชย”)จากภาครัฐเท่านั้น นอกจากนั้นรัฐจะต้องมีนโยบายการจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) การขยายสิทธิประโยชน์ในการประกันรายได้และกาจ้างงานให้ถ้วนหน้าเป็นระบบและครบวงจร ทั้งนี้รวมถึงการรองรับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่ต้องออกจากงานก่อนกำหนด
2.การที่รัฐจะออกมาให้ความเห็นว่า “ขสมก ขาดทุนมากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่ากำลังที่ ขสมก. จะจ่ายได้ จึงเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องนำงบประมาณมาอุดหนุนปีละกว่า 9,000 ล้านบาท”{1} ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะการคมนาคมสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ปกติรัฐจะต้องจัดให้เป็นสวัสดิการ ดังนั้นการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่รัฐมองว่าเป็นภาระนั้นแท้จริงแล้วมันคือหน้าที่ที่รัฐต้องจัดหาให้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การเอาเรื่องผลกำไรมากล่าวอ้างในเรื่องกิจการสาธารณะที่เป็นสวัสดิการซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ผิดและเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการเบียงเบนประเด็นจากความไร้ความสามรถในการบริหารงานของรัฐบาล ดังนั้นแทนที่จะจะยกเลิกรถเมล์ฟรี รัฐบาลจึงควรจัดให้รถเมล์NGVทั้ง4,000 คันนั้นเป็นรถเมล์ฟรีเพื่อเป้นสวัสดิการให้แก่ประชาชนทั้งหมด
3.ควรมีช่องจรจรสำหรับรถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะทั้งระบบเพื่อความสะดวกต่อการจราจรสาธารณะซึ่งเป็นการสัญจรของคนส่วนมากในสังคม หรือพัฒนาเป็นรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษหรือบีอาร์ที (BRT) ที่นิยมใช้ในทวีปอเมริกาเหนือแล้ว หรือในบางภูมิภาคเช่นทวีปยุโรป หรือออสเตรเลีย อาจเรียกว่า "บัสเวย์" (Busway) หรือบางแห่งอาจเรียกชื่อเฉพาะสำหรับระบบในแต่ละเมือง เช่น ทรานส์จาการ์ต้า (TransJakarta) เป็นต้น เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของขนส่งสาธารณะ สร้างระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว สะดวกสบายและประหยัด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้ใช้ถนนในอนาคตต่อมา โดยเฉพะหากทำควบคู่ไปกับมาตารการเชิงโครงสร้างในการขึ้นภาษีรถยนต์ส่วนบุคคลในอัตราก้าวหน้า อันจะนำไปสู่การลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งใช้พื้นที่จราจรต่อบุคคลสูงกว่าซึงเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการจรจรติดขัดลงได้ และยังสามารถนำเงินภาษีที่เก็บได้ดังกล่าวมาจัดเป็นสวัสดิการในการเดินทางของประชาชนในรูปของรถเมล์ฟรีที่มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
{1}เดลินิวส์ . 2552. พรรคภูมิใจไทย:ทำไม? ต้องเช่ารถเมล์ NGV. เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 2552