วันนี้ประชาไทขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการหวนรำลึกไปถึงวันที่คนหนุ่มสาวเริ่มออกแสวงหาเส้นทางเพื่อการค้นพบคุณค่าของตัวเอง กลับไปในช่วงสมัยที่เริ่มหัดออกค่าย แบกเป้ โบกรถ ตามหาความฝัน
“ปาลิดา ประการะโพธิ์” เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กมัธยมที่กล้าประกาศกับผู้ใหญ่หรือนักกิจกรรมรุ่นเก๋าๆ ทั้งหลายว่า “โปรดอย่าพูดแบบเหมารวม เด็กมัธยมก็สนใจปัญหาสังคม”
ขณะทำกิจกรรมครบรอบ 21 ปีเหตุการณ์ 8888 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา(ด้านหลังเป็นจิตรา คชเดช ปิดปากคาดหัวเราก็แอบรู้เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์)
เริ่มต้นจากการอ่าน
ปาลิดา เกิดมาในครอบครัวที่เธอเรียกว่าเป็น “ครอบครัวธรรมดาๆ” ซึ่งหัดให้เธอเริ่มรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองต้องแต่ช่วงประถม และในบางครั้งอาจจะมีอารมณ์ เศร้า เหงารัก ตามประสาเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่เธอใช้บำบัดอารมณ์ในวัยเยาว์ของเธอนั่นก็คือ ‘การอ่าน’
“เกิดในครอบครัวธรรมดา เป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่สอนให้รับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกัน ประมาณประถมต้นก็หัดรีดผ้าเองแล้ว พอโตหน่อยประถมปลายก็พ่อแม่ก็ส่งเข้าโรงเรียนประจำ ทำให้ยิ่งต้องช่วยเหลือตัวเองให้เป็นเข้าไปกันใหญ่ พอห่างจากพ่อแม่ก็มีเหงาบ้างอะไรบ้าง เลยต้องหาสิ่งจรรโลงใจหน่อย คือ หนังสือ เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ”
“ไม่ว่าจะหนังสืออะไรได้หมด ตั้งแต่การ์ตูนยันสารคดีหนักๆ แต่อย่างหลังนี่ตอนเด็กๆ อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็พยายามอ่าน สนุกดี อ่านหนังสือมาเรื่อยจนกระทั่ง ป.4 เริ่มอ่านหนังสือที่ไม่มีภาพ เน้นหนาๆ อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี่อ่านสี่เล่มรวดเลย แล้วก็นวนิยายแบบคลาสสิคสุดๆอย่าง สี่แผ่นอิน หรือรัตนโกสินทร์ ฯลฯ ช่วงนั้นบ้ามากเอาไปอ่านในเวลาเรียนจนครูว่าแต่ก็ไม่สนใจเท่าไหร่”
“ดำเนินชีวิตมาเรื่อยๆ แบบเด็กปกติทั่วไป ไม่รับไม่รู้อะไรกับโลกภายนอกเขาเท่าไหร่ เขาบอกให้เรียนเราก็เรียน เขาบอกให้สอบเราก็สอบไป บ้าเรียนกวดวิชา บ้าทีวี กลับมาบ้านนี่ต้องเปิดทีวีก่อนเลย จนกระมาถึงประมาณ ม.4 เริ่มเห็นความจริงของโลกจากการอ่านหนังสือหลายๆ เล่มแล้วเราเริ่มคิดตามว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นแบบนี้ สิ่งนี้ถึงเป็นแบบนั้น สงสัยมาก พอดีได้คุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งตอนนั้นเขาย้ายไปเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมฯ เมื่อก่อนสนิทกันมากเพราะเคยอยู่ประจำหอเดียวกัน พี่คนนี้เขาสนใจการเมือง สนใจความเคลื่อนไหวรอบโลก แล้วก็มาแนะนำว่าลองอ่านอันนี้สิ ลองไปดูอันนั้นสิ ซึ่งก็จำไม่ได้ว่าพี่เขาแนะนำว่าอย่างไร แต่มันเป็นจุดหักเหของการเปลี่ยนมุมมองในการมองโลก ก่อนหน้านี้ชีวิตมีแต่บ้านกับโรงเรียน สองอย่างนี้กลืนกินชีวิตกว่า 80% หลังจากนั้นเราก็เริ่มหันกลับไปมองว่าเอ… ไอ้ที่เราทำไปเมื่อก่อนนั่นเราทำอะไร เราทำเพื่อใคร แล้วตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่”
หนังสือเล่มหนาอย่าง ‘ปุลากง’ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของพ่อเธอในสมัยที่ยังเรียนอยู่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญเมื่อครั้งที่หยิบมาอ่าน และมันก็เป็นประตูให้เธอเริ่มก้าวเข้ามาเป็นนักกิจกรรมวัยเยาว์
“การอ่านนี่มันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปได้จริงๆ นะ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘ปุลากง’ เป็นหนังสือเก่ามากแล้ว หนังสือนี้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของพ่อสมัยตอนเรียนหนังสือ เรื่องราวในนั้นมันจะเล่าเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเห็นว่ามันแปลกดี บางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน เลยตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับมุสลิมทั้งหมด ไม่ว่าจะในตะวันออกกลาง วัฒนธรรมของชาวมุสลิม ข้อบังคับทางศาสนา รู้สึกว่าอารยธรรมของชาวมุสลิมนี่มีเสน่ห์ดึงดูดชวนให้น่าติดตามดี เลยความบ้าขึ้นมาอยากจะไปเรียนภาษาอาหรับ พออยากแล้วก็ไปหาที่เรียนเลย ไกลแค่ไหนก็จะไปให้ได้”
“ตอนนั้นได้ที่เรียนที่ WAMY ( World Assembly of Muslim Youth) อยู่แถวๆ อ่อนนุช ไกลมากเลยนะจากหลักสี่เนี่ย แต่ก็ได้ไปเรียนจนได้ เรียนได้ไม่นานก็ต้องหยุด เพราะสู้ค่าเดินทางไม่ไหว พอเราได้เรียนอาหรับเรารู้สึกว่าเอ...ทำมีความสุขจัง เลยเกิดความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะไปเจอของจริง พอดีรู้จักพี่คนหนึ่งเขาทำค่ายเกี่ยวกับเรียนรู้วิถีชาวบ้านที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เลยตกลงไปกับเค้าด้วย พี่เขาเป็นกังวลใหญ่เลยว่ามีเด็กนี่ตามไปด้วยจะเป็นไรไหม เพราะมันเป็นค่ายของนักศึกษา ถ้าน้องเขาไปแล้วเกิดอันตรายขึ้นมาจะทำยังไง พี่เขาถามแล้วถามอีกว่าจะไปแน่เหรอ เราก็บอกว่าแน่ เพราะอยากไปมานานแล้ว”
“แต่ที่ตอบตกลงไปนี่ยังไม่ได้บอกพ่อกับแม่เลย กลัวเขาจะไม่ให้ไป แต่ก็ต้องตัดสินใจบอกเพราะกลัวเขาจะช็อค ถ้าวันหนึ่งลูกสาวหอบกระเป๋าออกไปข้างนอกสามวันเจ็ดวันโดยไม่บอกกล่าว บอกไปทีแรกหัวเด็กตีนขาดยังไงเขาก็ไม่ให้ไป เราก็ต่อต้านในใจ คิดว่าชีวิตกู กูลิขิตเองได้ จะไปซะอย่างใครจะทำไม พ่อแม่สอนให้เราจะทำอะไรก็คิดเอง ถามพ่อแม่พอเป็นธรรมเนียม ก็รู้ว่าเขาเป็นห่วงนะ แต่ทำไงได้ เรามันดื้อด้าน หลังๆ เขาก็เลยอยากไปไหนก็ไป ลงสามจังหวัดชายแดนนี่ถือเป็นกิจกรมแรกที่ได้ทำจริงๆ จัง ได้ไปลงพื้นที่เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ดูวิถีชาวบ้านว่าเขาอยู่กันยังไง ไปไม่กี่วันนี่หลงเสน่ห์ชาวมลายูเข้าอย่างจัง รักมากพื้นที่นี้”
ประสบการณ์ชายแดนใต้
สิ่งที่ปาลิดาได้พบเห็นจากการลงพื้นที่ครั้งนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่เคยสัมผัส และเธอได้รับประสบการณ์ชีวิตมากมาย
“พื้นที่สีเขียวนี่แพร่วงกว้างมาก ไปตอนแรกนี่ตกใจ หลังๆ เริ่มชิน พอขบวนรถนักศึกษาลงไปนี่ต้อนรับอย่างดีเลย พี่แก (ทหาร) เล่นบล็อกเราทุกด่าน ถนนสายหนึ่งนี่มีด่านมากกว่าสิบด่านได้มั้งไม่ให้ไปบ้าง จะจัดรถทหารไปนำขบวนให้บ้าง แต่เราก็ปฏิเสธนะ ถ้าเขาไปด้วยชาวบ้านหวาดระแวงแน่ๆ ทหารก็กลัวว่าขบวนการจะมาทำอะไรเรา แต่เรามั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว”
“พอลงไปก็เห็นปัญหาหลายๆ อย่าง ปัญหาที่ครอบครัวส่วนใหญ่ประสบคือ ขาดผู้นำครอบครัว ขาดสามี ขาดที่พึ่ง เพราะเสียชีวิตไปกับเหตุการณ์ไม่สงบทั้งที่เกิดจากรัฐและผู้ก่อการร้าย บางครอบครัวได้รับคำสัญญาจากรัฐว่าจะให้เงินช่วยเหลือครอบครัวแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ หรือพอเกิดเรื่องอะไรก็ให้ไปฟ้องศาลเอาเอง แล้วลองคิดดูสิ ชาวบ้านก็จนอยู่แล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปวิ่งเต้นจ้างทนายมาว่าความ ไหนจะค่าเดินทาง ค่านู่นค่านี่ เต็มไปหมด”
“ในส่วนตัวมองว่าปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะได้รับการแก้ไขจากรัฐคือปัญหาการไม่มีที่ทำกิน อย่างน่านน้ำทะเลปัตตานีเนี่ย พวกนายทุนเขาพากันไปจับจองกันหมด มีการปักปันเขตแดนด้วยนะ ชาวบ้านเลยหมดทางทำมาหาดิน ออกเรือไปไหนก็ไม่ได้ เพราะนายทุนเขาห้ามเขาเขตเขา นายทุนก็ฉลาดทำการฮั้วกับกำนันผู้ใหญ่บ้านเสร็จสรรพ หมดเลยที่ดินทำกิน แล้วยังมีการถมที่ตั้งโรงงานปลากระป๋องยื่นออกไปในทะเล ปล่อยน้ำเสียออกมาอีก ชาวบ้านเดือดร้อนเข้าไปอีกปัญหาของชาวบ้านมันไม่ได้รับการแก้ไข เพราะคนในระบบราชการ คนใหญ่คนโตมันไปทำเสียเอง ผลประโยชน์มันมหาศาลมันล่อตา คราวนี้ยังไงล่ะชาวบ้านจะเหลืออะไร ก็เจ๊งลูกเดียว”
ปาลิดาเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สงบ คือเรื่องของความอึมครึมตึงเครียด และนโยบายการใช้การทหารนำการเมือง
“บรรยากาศมันอึมครึม ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงเข้าหากัน ไม่มีใครรู้ว่าความรุนแรงและการประหัตประหารชีวิตกันในแต่ละวันมันมาจากเหตุผลและวัตถุประสงค์อะไร มันมีสมมติฐานหลายอย่างที่ใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกนักวิชาการหรือฝ่ายทหารก็จะบอกว่าหัวหอกของการก่อการร้ายคือพวก BRN-Coordinate ซึ่งพวกเขาต่างจินตนาการกันว่าเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างชัดเจน และมีการสั่งงานเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับขั้นชัดเจน การที่ไปเอะอะเป็นตุเป็นตะเอาเองอย่างนั้นมันจะนำไปสู่การเข้าใจผิด การแก้ปัญหาเลยไม่ถูกที่ถูกทาง”
“อีกอย่างคือการใช้การทหารนำการเมือง พื้นที่ที่ภาคใต้มีสถาพคล้ายเมืองที่เป็นอาณานิคมอยู่เต็มที ถึงแม้ว่าในอดีต สยามจะเคยบุกตีรัฐปัตตานีมาเป็นเมืองขึ้นก็ตาม แต่ในเมื่อมีการหลอมรวมกันเป็นชาติเดียวแล้ว ก็น่าจะหาวิธีปฏิบัติต่อกันให้ดีหน่อย เพราะความรุนแรงจากรัฐและจากขบวนการเองเป็นเหตุของความไม่สงบในปัจจุบัน”
กิจกรรมที่ทำ
หลังจากกลับมาจากจังหวัดชายแดนใต้ ปาลิดาก็ได้เริ่มทำกิจกรรมอย่างจริงจัง
“พอกลับมากรุงเทพฯ ก็เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมกับพี่ที่มหาวิทยาลัยที่เราสนิทเพิ่มมากขึ้น รู้จักคนเพิ่มมากขึ้น เลยไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับกลุ่มประกายไฟ กลุ่มที่ใช้แนวคิดแบบมาร์กวิเคราะห์สังคม ก็มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายในกลุ่มนั้น เช่น การจัดเสวนา การจัดกลุ่มศึกษากันเองภายในกลุ่มเพื่อเพิ่มพูนความรู้ แรกๆ ที่อ่านงานมาร์กนี่จะอ้วก เลี่ยน เอียน มากกับแนวคิด คิดว่ามาร์กคงไม่ใช่คำตอบของสังคมทั้งหมด แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่ติดขัด เช่น การเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการในประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิที่แรงงาน สิทธิของคนรากหญ้าทั่วไปควรจะได้รับ”
“มันก็เกิดคำถามในใจอีกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในประกายไฟคือคำตอบสุดท้ายหรือ คำตอบคือ ‘ไม่’ แต่แนวทางในการทำงานส่วนหนึ่งของกลุ่มมันตรงกับทัศนคติของเราที่มีต่อโลก เช่น ไม่ชอบการเอารัดอาเปรียบ ไม่ชอบการกดขี่ แต่การอยู่กลุ่มประกายไฟนี่เพื่อการเรียนรู้งาน การเรียนรู้การทำงานร่วมกันกับสังคมที่นอกเหนือกว่าโรงเรียน มีความคิดที่โตขึ้นจากเด็กที่กะโหลกกะลาไปวัน รับรู้ปัญหาของสังคมมากขึ้น ตอบปัญหาที่เคยตั้งไว้กับโลกว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ถึงเป็นอย่างนั้นได้บ้าง”
“ได้มาทำงานกับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่ม Food Not Bombs กลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาแล้วกระจายไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก เป็นกลุ่มที่ต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ ต่อสังคม อันที่จริงกลุ่มนี้พี่เขาเพิ่งนำเข้ามาในไทยเมื่อหนึ่งถึงสองปีก่อน ทำกิจกรรมรณรงค์อยู่พักหนึ่ง ก็หายหน้าหายตาไปทำงานอื่น”
“พอเราเข้ามาเขาก็ทำการ re-branding ใหม่ เริ่มต้นใหม่หมด เรียกประชุมคิดประเด็นรณรงค์ใหม่ แนวทางการทำกิจกรรมใหม่ ให้มันน่าสนใจ น่าดึงดูดพอที่จะดึงคนรุ่นใหม่มาสนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น มันเป็นงานที่ยากมาก ที่จะทำยังไงให้มองดูแล้วกิจกรรมที่ปล่อยออกมาดูไม่เครียด แต่ชื่อกลุ่มเราก็ดูแปลกแหวกแนวอยู่แล้ว ประเด็นที่เราจะเล่นคือการใช้งบทหารที่ฟุ่มเฟือย เพราะแทนที่จะเอาเงินไปอุดหนุนงบทหารซะมากมาย เงินเหล่านั้นสามารถนำไปพัฒนาสวัสดิการเพื่อประชาชนที่ยากจนได้อีกมาก”
“แล้วเรายังมองว่าความอดอยากหิวโหยเป็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่งด้วย เพราะมันสามารถส่งผลเป็นลูกโซ่ได้อีกหลายๆ เหตุการณ์ อย่างการลักทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เรามีการจัดกิจกรรมขึ้นมาหลายๆ กิจกรรม เช่น การแจกอาหารมังสวิรัติต่อคนที่อดอยาก การพาสมาชิกไปสัมผัสวิถีชีวิตของแรงงานที่น้อยคนนักจะรู้ว่าเขามีความเป็นอยู่ยังไง ผลตอบรับที่ได้จากเยาวชนยังได้รับความสนใจที่ยังน้อยอยู่ หากถามว่าแนวทางของกลุ่มนี้ถูกใจไหม ก็คงต้องตอบว่าไม่ แต่ก็ยังอยากทำต่อไป เพราะสังคมไทยยังขาดการเรียกร้องต่อเรื่องนี้อยู่ และยังคงต้องหาแนวทางของตัวเองต่อไป”
ปาลิดาแสดงความเห็นต่อการวิจารณ์ว่าการทำงานของ Food not Bombs ว่าเป็นแนวสังคมสงเคราะห์มากเกินไป เธอคิดเห็นว่าการแจกอาหารไม่ใช่เป้าหมายหลักของกลุ่ม
“การแจกอาหารไม่ใช่เป้าหมายหลัก มันคือกิจกรรมหลัก แต่การสร้างกิจกรรม การทำงานร่วมกัน สร้างสังคมที่เกื้อกูลกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันต่างหาก เป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไป”
ซึ่งปาลิดามองว่ากิจกรรมของ Food not Bombs เหมาะสำหรับคนที่อยากทำกิจกรรมทางสังคม คนรุ่นใหม่ก็สามารถเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เพื่อแสวงหาต่อยอดในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ที่เข้มข้นกว่าในอนาคตได้
แต่การทำกิจกรรมของ Food not Bombs ก็ยังพบอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม
“เรายังขาดทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น คน เงิน และเวลา ในการดำเนินงาน ใช่ว่าทรัพยากรคนที่มีอยู่ของเราไม่มีคุณภาพ แต่สมาชิกของเราเกือบทั้งหมดเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เลยไม่มีใครทำงานให้องค์กรเต็มเวลา การดำเนินกิจกรรมเลยไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีกิจกรรมออกมาตลอด เราไม่มีการเก็บค่าสมาชิกก็เลยต้องเขียนโครงการไปพึ่งแหล่งทุนอื่น”
อย่ามองเด็กเหมารวม
เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กมัธยม โดนวิจารณ์เรื่องไม่สนใจปัญหาสังคม ปาลิดาให้ความเห็นว่าในบางครั้งมองเด็กเพียงด้านเดียว และบ่อยครั้งยังแถมประเด็นการ ‘เหมารวม’ พร้อมกับย้อนถามว่า ต้นเหตุแท้จริงมันมาจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ ที่มักวางกรอบให้เด็กไม่สนใจปัญหาสังคมตั้งแต่ต้นมาแล้ว
“อันที่จริงพวกผู้ใหญ่จะไปพูดว่าเด็กไม่สนใจปัญหาสังคมไปทั้งหมดก็ไม่ถูกนะ เด็กมัธยมรุ่นนี้ก็สนใจปัญหาสังคมเหมือนกัน กรุณาอย่าพูดแบบ ‘เหมารวม’ ซึ่งพวกเด็กๆ ก็มักคิดว่าสนใจปัญหาสังคมแล้วกูทำอะไรได้วะ แล้วสังคมตอนนี้ส่วนใหญ่ก็บริโภคนิยมฉาบฉวยกันมั้ง ทุกวันนี้การแข่งขันในระบบการศึกษามันสูงมาก ใครดีใครได้และก็ต้องมาเครียดกับการอ่านหนังสือเรียน เครียดกับเรื่องการเตรียมสอบ อนาคตของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า”
“แล้วพวกผู้ใหญ่นี่แหละชอบปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าหน้าที่ของเด็กคือตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนหนังสือเข้าไป ยังไม่ต้องไปสนใจเรื่องอื่นเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว ปล่อยให้ผู้ใหญ่เขาทำไปเถอะ ตัวแค่นี้จะไปทำอะไรได้ แบบนี้จะไปโทษเด็กได้ยังไงมันอยู่ที่การปลูกฝังและความสนใจเฉพาะตัวเด็ก”
“แล้วสภาพแวดล้อมในขณะนี้ หากนำไปเทียบกับยุคที่นักเรียนนักศึกษาตื่นตัวมากๆ อย่างช่วง สิบสี่ตุลา หกตุลา ก็จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมมันต่างกัน อุดมการณ์ที่จะทำเพื่อสังคมมีสูงมาก มีเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม อย่างการออกค่ายไปสัมผัสชีวิตชาวนา การตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันถึงความเป็นไปของบ้านเมือง หรืออะไรเทือกนั้น แต่ในปัจจุบันพวกถึงแม้ว่าเด็กจะรับรู้ถึงปัญหาสังคม แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมต่อปัญหานั้น ไม่ได้มีการนำปัญหานั้นมาต่อยอด มาจับกลุ่มคุยกันว่าว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างต่อปัญหานั้นๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ น่ารำคาญ และแลดูไกลตัวเกินไป”
“เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันจะสนใจแต่เรื่องของการจะทำยังให้ได้คะแนนดีๆ การที่จะทำยังไงให้ตัวเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แน่นอนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กทุกคนเพราะสมัยนี้จบปริญญาตรี ยังหางานทำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับแค่ ม.6 ดังนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นจุดมุ่งหมายเดียวและเป็นเป้าหมายร่วมของเด็กวัยนี้ ฉะนั้นการทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่จึงทำไปในทิศทางเดียวกัน อย่างการไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง การเอาเวลาส่วนใหญ่ไปอ่านหนังสือ มากกว่าจะอาเวลามาสนใจปัญหาสังคม ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เวลาจะหาแนวร่วมทำกิจกรรมของ Food not Bombs หรือกิจกรรมอื่นๆ นี่ยากมาก”
การเมือง “เหลือง - แดง”
ในประเด็นการเมืองไทยปัจจุบัน เมื่อถามปาลิดาว่าคิดอย่างไร กับการเมือง “เสื้อเหลือง เสื้อแดง” รวมถึงบรรยากาศการพูดคุยของเด็ก ม.6 เกี่ยวกับเรื่องการเมืองปัจจุบัน
“ผลประโยชน์มันล่อตาล่อใจอำนาจมันล่อไม้ล่อมือเลยมีมหกรรมแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองเป็นการใหญ่แต่ไหนแต่ไร ไม่ต้องจัดมหกรรมประจำปี เพราะมันเกิดทุกวัน เมื่อถามว่าประชาชนได้อะไรที่ควรได้บ้างไหม ก็ได้อะไรที่มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีรุ้ง มันก็ได้แต่คนในเมืองทั้งนั้น แล้วคนที่อยู่รอบนอกล่ะ เขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทยหรือไง”
“เลยเกิดคำถามว่าบ้านเมืองเราคงมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์น้อยเกินไปหรือเปล่า เลยต้องสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความแตกต่าง เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อขาว เสื้อชมพู เสื้อสีรุ้ง บลา บลา บลา ผุดขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แน่ล่ะ สถาณการณ์ทางการเมืองมันส่งผลให้ต้องแสดงออกถึงเจตนารมณ์และอุดมการณ์ แต่คุณต้องไม่ลืมว่าการแสดงออกที่ชัดเจนอย่างเสื้อเหลือง เสื้อแดงนั้น มันเป็นการแบ่งขั้วมากเกินไปหรือเปล่า”
“อย่างสมมุติว่าคนที่มีความคิดไม่สนับสนุนทักษิณ แต่อยากได้ประชาธิปไตยไม่เทียมจะจัดเขาอยู่ตรงโซนไหนของเสื้อแดง แดงเข้ม แดงปานกลาง แดงอ่อนหรือแดงอ่อนๆ จะนิยามคำว่าเสื้อแดงยังไง หรือถ้าสมมติว่าคนที่ไม่ต้องการทุนนิยมสุดขั้ว ไม่ต้องการนักกินเมืองขี้ฉ้อ แต่ยังอยากได้นายกฯแบบที่มาจากประชาธิปไตยล่ะ จะแบ่งยังไง เหลืองเข้ม เหลืองปานกลาง เหลืองอ่อน หรือเหลืองอ่อนๆ นี่คือปัญหา การเมืองไทยเป็นอะไรที่เข้าใจยากมาก หากจะให้นิยามตัวเองด้วยสี คงจะเป็นสีส้ม”
และเมื่อถามถึงบรรยากาศในชั้นเรียนของปาลิดา เกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องการเมือง ว่าเชียร์เสื้อเหลือง เชียร์เสื้อแดง เชียร์อภิสิทธิ์ เชียร์ทักษิณ บ้างไหม ปาลิดาให้คำตอบสั้นๆ
“คุยกันบ้าง ก็เชียร์แบบตามกระแสเสื้อเหลืองฟีเวอร์เลย พี่มาร์คสุดหล่อ การศึกษาดี ชาติตระกูลดี แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมทักษิณถึงเลวเสื้อแดงถึงถ่อย”
… เหล่านี้คือคำตอบของเด็ก ม.6 โรงเรียนอัมพรไพศาล ที่กำลังผิดหวังกับผลการสอบกลางภาคนิดหน่อย แต่อีกด้านหนึ่งเธอกำลังมุ่งมั่นทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อเผาผลาญชีวิตวัยเยาว์ของตัวเองอย่างขมักเขม้น