“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นักศึกษา-นักกิจกรรมแต่งผีร่วมงานรำลึก14 ตุลา ชี้มาตรฐานรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่ำกว่าเผด็จการถนอมฯ




เมื่อวันที่ 14 ต.ค.53 เวลา 9.00 น. ที่งานรำลึก 14 ตุลา 16 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน ขณะที่นาย องอาจ คล้ามไพบูลย์ ตัวแทนของรัฐบาล นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนองค์กรประชาธิปไตยและแรงงาน ตัวแทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและตัวแทนนิสิตนักศึกษากล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตยนั้น ได้มีคนแต่งหน้าผีประมาณ 5 คนจากกลุ่มประกายไฟและเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ออกมาร่วมภายในงานดังกล่าว พร้อมข้อความ ว่า “14 ตุลา 16 เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย ที่นี่มีคนตาย” และ “10 เมษา 53 เรียกร้องเลือกตั้ง เรียกร้องประชาธิปไตย ที่นี่มีคนตาย”


นอกจากนี้ยังมีการเดินแจกจดหมายในชื่อ “จดหมายผีบอก ที่นี่มีคนตาย” ภายในอนุสรณ์สถานด้วย โดยกลุ่มดังกล่าวได้เข้าไปยื่นจดหมายแก่ผู้ที่มากล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย ทั้งนายองอาจ นายแพทย์นิรันดร์ และตัวแทนองค์กรต่างๆ โดยเนื้อความในจดหมายดังกล่าว มีดังนี้
จดหมาย ”ผี” บอก ที่นี่มีคนตาย!
ณ ที่แห่งนี้มีคนตาย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 เป็นการสั่งสมของความกดดันของการเมืองไทยที่อยู่ใต้ ระบบเผด็จการ มาเป็นเวลายาวนาน มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แล้วฉีกทิ้งทำลาย สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีพึงได้ถูกปฏิเสธและเหยียบย่ำ อำนาจการเมืองการปกครองก็ตกอยู่ในมือของคณาธิปไตยเพียงไม่กี่คน ทั้งนี้โดยอาศัยกลไกของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นเครื่องมือ ในขณะที่การเติบโตขึ้นของเครือข่ายนักศึกษาปัญญาชนและผู้ที่ไม่พอใจในระบอบเผด็จการทหาร จนมีการรณรงค์ “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตามมาด้วยการจับกุม “13 กบฏ” การหลอมรวมพลังทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทยจึงเกิดขึ้น ระเบิดเป็นเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ซึ่งในวันดังกล่าวฝ่ายที่ต้องการกุมอำนาจตอบโต้โดยทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง[1] ซึ่งปิดฉากลงด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บ 857 คน ผลคือ เผด็จการทหารอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
ณ ที่แห่งนี้มีคนตาย เหตุการณ์ 10 เมษายน 53 เป็นการสั่งสมของความกดดันของการเมืองไทยที่อยู่ใต้ ระบบเผด็จการ ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากระบอบรัฐสภา มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีพึงได้ถูกปฏิเสธและเหยียบย่ำ อำนาจการเมืองการปกครองก็ตกอยู่ในมือของคณาธิปไตย(อำมาตยาธิปไตย)เพียงไม่กี่คน แม้จะมีการเลือกตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ จนต้องถูกยุบส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการฉันทามติ(การเลือกตั้ง)ในแรกเริ่มได้ครองอำนาจ ทำให้ผู้ที่ไม่พอใจในระบอบที่เกิดจากการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบดังกล่าว จนมีการรณรงค์ “เรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่” มีการชุมนุมหลายครั้งของประชาชนผู้ไม่พอใจดังกล่าว
จนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ซึ่งในวันดังกล่าวฝ่ายที่ต้องการกุมอำนาจได้ปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ ภายใต้วาทกรรม “ขอพื้นที่คืน” มีการปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่บ่ายของวันดังกล่าว จนกระทั้ง 18.00 น. ซึ่งถือเป็นเวลาค่ำทหารยังไม่หยุดปฏิบัติการได้เคลื่อนพลมาที่แยกคอกวัว บนเส้นทางถนนตะนาวและบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันในเวลาต่อมา ซึ่งปิดฉากลงด้วยผู้เสียชีวิต 25 คน ผู้บาดเจ็บ 865 คน
ผลคือ รัฐบาล(ที่อ้างมาจากประชาชน)ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป โดยไม่เรียนรู้บทเรียนจากการปราบปรามประชาชน เพียงแค่เปลี่ยนจาก “ข้อคืนพื้นที่” เป็น “กระชับวงล้อม” แล้ว เปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการเคลื่อนที่เข้าไปในลักษณะเหมือนในสนามรบ ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดกำลังเข้าดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเหมือนกับการควบคุมฝูงชน[2] จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 91 และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน และแน่นอนยังมีตัวแทนมากล่าว “กล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย” ในวันนี้(14 ตุลา)
ข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์คือ วันที่ 10 เมษายน 2553 มีการพยายามสลายการชุมนุมบริเวณนี้ของฝ่ายรัฐภายใต้การกุมอำนาจบริหารของรัฐบาลชุดนี้ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐเอง “จริง” ดังนั้น
1. ข้อเท็จจริงนี้เพียงพอแล้วที่รัฐบาลที่อ้างมาจากประชาชนจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภาทันที เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่เผด็จการทหารอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทันที่โดยไม่ต้องรอการพิสูจย์อะไร
2. แม้รัฐบาลชุดนี้จะมาตรฐานต่ำกว่าเผด็จการทหารอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็ควรมี “ความละอายใจ” บ้างที่จะมา“กล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย”
3. องค์กรต่างๆที่มา “กล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย” ในวันนี้ก็ต้องประณามรัฐบาลที่มี มาตรฐานต่ำกว่าเผด็จการทหาร ที่ทำการปราบปรามวีรชนประชาธิปไตยที่คุณมากล่าวสดุดี ต่อให้รักปานจะกลืนอย่างไรก็ต้องประณาม ไม่เช่นนั่นมาตรฐานนี้จะติดตัวต่อไป และแน่นอนคุณไม่มีหลักประกันเลยว่ารัฐบาลต่อไปจะเป็นรัฐบาลที่คุณรักหรือไม่ หรือคุณจะไม่ประท้วงรัฐบาลต่อจากนี้เลย
ปล่อยให้รัฐบาลที่มาตรฐานต่ำกว่าเผด็จการทหารอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ลอยนวล
จะมาสดุดีวีรชนประชาธิปไตยกับ “ผี” อะไร?
อ้างอิง
[1] ทีมา www.14tula.com
[2] พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก แถลงการณ์ปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ ในวันที่ 19 พ.ค.53 (แถลง 20 พ.ค.53 )

ที่มารายงานข่าว : ประชาไท http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31499







มติชนรายงาน : รำลึก 14 ตุลา นักการเมืองวางพวงหรีด-นศ.แต่งหน้าผีร่วมงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาสี่แยกคอกวัว มีญาติวีรชน พร้อมด้วยคนเดือนตุลา นักศึกษา ประชาชนร่วมตักบาตรพระสงฆ์ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนคนเดือนตุลา ทั้งนี้มีตัวแทนนักการเมืองร่วมวางพวงหรีดอาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมวางพวงหรีด และกล่าวคำอาลัย ในงานรำลึก 14 ตุลา ครบปีที่ 37 ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลา จัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแด่วีรชนที่เสียชีวิต นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ร่วมวางพวงหรีด และกล่าวคำอาลัย และตัวแทนพรรคฝ่ายค้านร่วมวางพวงหรีด และกล่าวคำอาลัย

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมวางพวงหรีด และกล่าวคำอาลัย ในงานรำลึก 14 ตุลา ครบปีที่ 37 ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลา จัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแด่วีรชนที่เสียชีวิต โดยนักศึกษาจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่งหน้าคล้ายผีและสวมหน้ากากสีขาว พร้อมถือป้ายข้อความ "ที่นี่มีคนตาย" ระหว่างร่วมในงานรำลึก 14 ตุลา ครบปีที่ 37 ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลา

ที่มา นที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 14:30:34 น.
มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1287040816&grpid=02&catid=00