“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อีกด้านหนึ่งของคานธีที่คุณควรรู้จัก


เบนจามิน แฟรงคลิน(แว่น ประกายไฟ)

หากเอ่ยชื่อของคานธีหลายคนคงนึกถึงภาพชายแก่ผมบางนั่งปั่นผ้าและความสำคัญของเขาในฐานะผู้รวบรวมชาวอินเดียให้ทำการต่อสู้เพื่อปลกแอกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรม”อหิงสา”และ”อารยะขัดขืน”ของคานธียังคงมีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวภาคสังคมทั้งในไทยและระดับสากลมาจนถึงทุกวันนี้ ช่วงทศวรรษที่1960 คนผิวดำในอเมริกาใช้การประท้วงแบบสันติตามรอยคานธีในการสู้กับคนขาวในหลายวิธีการเช่น นั่งในร้านอาหารที่ขายเฉพาะคนขาวจนกว่าเจ้าของร้านจะยอมขาย หรือประท้วงรถเมลล์ที่แบ่งที่นั่งคนดำและคนขาวโดยการเลิกขึ้นรถเมลล์แล้วเดินหรืออาศัยรถเพื่อนแทนเป็นต้น และเหนือไปกว่านั้นวีรบุรุษในดวงใจของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิงหนึ่งในผู้นำการต่อสู้เพิ่อสิทธิคนผิวดำก็คือ มหาตมะ คานธีดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำนั้นอิทธิพลของวาทกรรมและแนวคิดของคานธีมีบทบาทอยู่ไม่น้อย ในไทยเองวาทกรรมของคานธีก้อเข้ามามีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวอยู่ไม่น้อยเช่น เมื่อครั้งที่มีการประท้วงปิดสภาไม่ให้สนชเข้าไปพิจารณากฎหมายเมื่อช่วงเดือนธันวาปี50ก็มีการทำสัญลักษณ์ อหิงสา No Entry มาชูเพื่อให้สอดรับกับกิจกรรมการปิดล้อมสภาโดยสงบปราศจากอาวุธไม่ให้สนชเข้าไปประชุมพิจารณากฎหมายได้ การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเองก็ชูสโลแกนอหิงสาในการต่อต้านรัฐบาลตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา (ผมไม่แน่ใจว่าการยึดสนามบิน ยึดรถโดยสารประจำทางจะเข้านิยามอหิงสาหรือเปล่า)



อหิงสาและการดื้อแพ่งคือตัวตนของคานธีที่ดูจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแต่ทว่าตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาที่กระแสหลักพูดถึงไม่บ่อยนัก(หรือแทบไม่พูดถึงเลย)นั่นคือคัวตนของเขาในฐานะความเป็นศาสนา-อนุรักษ์นิยม ประเด็นที่น่าสนใจคือความขัดแย้งในตัวเองของคานธี การต่อสู้เพิ่อปลดแอกจากอังกฤษแสดงให้เห็นว่าคานธีมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นเสรีชนอยู่ในตัวและต้องการเห็นประเทศของตนพ้นจากการปกครองของต่างชาติตรงนี้คือในมิติระหว่างประเทศ แต่ทว่าในระดับภายในประเทศเขากลับศรัทธาในระบบวรรณะ สนับสนุนให้แบ่งแยกคนโดยชาติกำเนิดของคนผู้นั้น คานธีให้ความเห็นถึงการล้มระบบวรรณะและการสถาปนาระบบการปกครองแบบตะวันตกว่า การล้มระบบวรรณะเท่ากับเป็นการทำลายหลักการของฮินดูที่สืบทอดกันมานาน นอกจากนี้การล้มระบบวรรณะยังจะนำไปสู่ความชุลมุนในสังคมด้วย คานธียอมรับไม่ได้ถ้าวันหนึ่งพราหมณ์จะกลายเป็นศูทรและศูทรจะกลายเป็นพราหมณ์ นั่นเท่ากับว่าคนต่างชาคิต่างภาษากดขี่เราเราต้องสู้แต่ถ้าคนชาติเดียวภาษาเดียวกับเรากดขี่เราเราต้องยอม ซึ่งผมมองว่าจุดนี้คานธีมีความขัดแย้งในตัวเองอย่างแรง

ประการต่อมาที่ผมมองว่าน่าสนใจและผมมองว่าเป็นความขัดแย้งในตัวคานธีก็คือประเด็นการศึกษา คานธีได้แสดงความเห็นไว้ว่าการเรียนรู้ข้ามวรรณะไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่การหาเลี้ยงชีพข้ามวรรณะคือสิ่งผิดและคุณต้องประกอบอาชีพเช่นบรรพบุรุษคุณ เช่นหากคุณเกิดในวรรณะศูทรคุณอาจเรียนรู้วิชาการต่อสู้ได้แต่ไม่อาจใช้วิชานั้นไปสมัครเป็นทหารได้เป็นต้น จากจุดนี้สามารถโยงไปถึงมุมมองต่อประเด็นปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในสังคมอินเดียได้อย่างดี นั่นคือคานธีได้สร้างวาทกรรม“ความสุขเงินซื้อไม่ได้”ขึ้นมาโดยกล่าวว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีความสุขเพราะเขารวยหรือทุกข์เพราะเขาจน หลายครั้งที่คนรวยนั่งอมทุกข์ขณะที่คนจนยิ้มอย่างมีความสุข และประเด็นสุดท้ายที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือความขัดแย้งในตัวเองของการหยิบยกวาทกรรมและการยืมคานธีมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่างคนขาวกับคนดำของดอกเตอร์คิง ความยึดมั่นในหลักการของฮินดูทำให้คานธิไม่คิดว่าการแต่งงานข้ามวรรณะหรือการร่วมโต๊ะอาหารข้ามวรรณะจะเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ ในขณะที่ดร.คิงและขบวนการคนผิวสีกลับเรียกร้องให้ยกเลิกแบ่งแยกการแต่งงาน การให้บริการสาธารณะระหว่างผิวสีโดยเห็นว่าประชาธิปไตยและสันติสุขในสังคมอเมริกันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคนผิวดำได้รับสิทธิพลเมืองเท่ากับคนผิวขาวเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความลักลั่นที่เราไม่ควรจะมองข้ามไป

พูดถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าผมจะเขียนถึงคานธีทำไมแล้วมันเกี่ยวกับสังคมไทยหรือเสนอทางออกให้สังคมไทยอย่างไร แน่นอนในทางตรงอาจไม่เกี่ยวเพราะคานธีมิได้มีบทบาททางตรงใดๆทั้งสิ้นกับสังคมไทย บริบทของสังคมไทยในปัจจุบันกับบริบทของโลกร่วมสมัยของคานธีก็แตกต่างกันและที่สำคัญที่สุดแนวคิดเรื่องฮินดูนิยมและระบบวรรณะก็ดูจะเข้ากันไม่ได้สำหรับสังคมไทยสังคมพุทธที่ปราศจากวรรณะ(จริงหรือ)แต่อย่างไรก็ดีบทเรียนที่คานธีได้ให้แก่สังคมไทยก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน ประการแรกเลยคือเหรียญมีสองด้านเสมอแต่สื่อกระแสหลักโดยความร่วมมือของชนชั้นปกครองบางกลุ่มมักเลือกที่จะแสดงให้คนเดินดินอย่างเราเห็นว่าเหรียญมีเพียงด้านเดียว เช่นในเมืองไทยคนส่วนมากมักรู้จักคานธีในฐานะเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชโดยสันติวิธีผู้มีจริยธรรมสูงส่งแต่ว่าด้านมืดอีกด้านหนึ่งของเขาที่ต้องการให้คงระบบวรรณะไปจนถึงการกีดกันการมีสิทธิเท่าเทียมของUntouchableในสังคมอินเดีย (เพื่อนชาวอินเดียเล่าให้ผมฟังว่าคานธีอดอาหารประท้วงการให้สิทธิเลือกตั้งแก่Untouchable) กลับถูกละเลยไปตรงนี้ก็เป็นหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ อาจเป็นได้ว่าสังคมไทยมีอิทธิพลของระบบพ่ออุปถัมภ์แบบเผด็จการอยู่ ซึ่งระบบนี้ผู้เผด็จการทรงคุณธรรมคือหัวใจของระบบดังนั้นการสร้างHeroทางการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็น นักต่อสู้ที่หยิบยกประเด็นชาตินิยมศาสนาและประเด็นศีลธรรมเป็นหลักในการต่อสู้และครอบงำสังคมเป็นที่ชื่นชอบของเผด็จการ ในขณะที่Ambedkarซึ่งแม้จะมีบทบาทสำคัญในรัฐธรรมนูญของอินเดียแต่การที่เขาต้องการสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากวรรณะและยืนเคียงข้างคนยากจน และUntouchable จุดนี้เผด็จการรับไม่ได้ชื่อของเขาจึงไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทย

ประเด็นต่อมาคือแนวคิดของคานธีที่ว่าจิตใจของมนุษย์ว่าเปรียบเสมือนนกที่ไม่ยอมหยุดบินมีความต้องการอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุดสอดคล้องกับการที่ชนชั้นนำบางกลุ่มในสังคมไทยพยายามบอกกับคนจนว่าพวกเขาควรที่จะยอมรับความจนของตนต่อไปเพราะนั่นคือกฎแห่งกรรมที่ต้องยอมรับ อีกทั้งแม้เราจะจนแต่เราก็อยู่อย่างพอมีพอกินตามอัตภาพได้ถ้าเรารู้จักจัดสรรความจนของเรา แน่นอนว่าแนวคิดนี้เมื่อประกอบเข้ากับชุดความคิดทางศาสนาพุทธ(ปนฮินดู)ที่สอนเรื่องกฎแห่งกรรมและการปล่อยวางทุกสิ่งทางโลกเพื่อเข้าสู่นิพพานอันเป็นความสุขที่แท้จริงแล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นยาละลายความขัดแย้งอันเกิดจากการกดขี่ที่ชนชั้นปกครองและคนมีอำนาจมีเงินกดหัวและขูดรีดจากคนจนชนิดโงหัวไม่ขึ้นได้อย่างดีทีเดียว(ในขณะที่ชนชั้นปกครองและนายทุนต่างขูดรีดจากคนยากคนจนกันแบบไม่เคยเพียงพอ) ตัวผมเองขณะนี้อยู่ไกลบ้านแต่ก็ได้ข่าวแว่วๆมาว่ารัฐบาลชุดใหม่ของเราอาจมีนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งถ้าขึ้นมาจริงตรงนี้น่าจะช่วยยืนยันความไม่พอเพียงของชนชั้นปกครองได้อย่างดีทีเดียวและแน่นอนการใช้หลักการทางศาสนามานำการต่อสู้ขอคานธีก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงแม้ว่าด้วยการนำการต่อสู้ของคานธีโดยใช้วิธีอหิงสาและการใช้หลักศาสนานำหน้าจะมีส่วนสำคัญ(แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)ในการปลดแอกอินเดียจากการเป็นอาณานานิคมของอังกฤษแต่ทว่าคานธีกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปลดแอกอินเดียจากความยากจน(กระทั่งทุกวันนี้แม้อินเดียจะเป็น1ในมหาอำนาจนิวเคลียร์แต่คนนับล้านยังคงต้องอาศัยสถานีรถไฟและข้างถนนเป็นที่ซุกหัวนอน)ตรงนี้ถือเป็นคุณูปการของคานธีที่ได้ช่วยยืนยันเรากับเราว่าแนวคิดจิตนิยมและศาสนานิยมไม่สามารถนำคนจนไปสู่การปลดแอกที่แท้จริงได้และบ่อยครั้งที่ข้ออ้างทางศาสนาได้ถูกนำมาใช้เป็นยาสมานความขัดแย้งทางชนชั้นได้อย่างไร้ที่ติ

ทั้งหมดที่ผมพยายามได้นำเสนอไปคืออีกด้านหนึ่งของคานธีที่ตำรากระแสหลักมักมองข้าม(หรือจงใจมองข้าม)ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์และบทเรียนต่อสังคมไทยก็คือวัฒนธรรมความใจกว้างทางวิชาการของอินเดีย แม้ว่าในอินเดียคานธีจะเป็นบุคคลคนสำคัญถึงขนาดถูกพิมพ์ลงบนธนบัตรทุกราคา วันเกิดของเขาถูกกำหนดเป็นวันหยุดประจำชาติและรัฐกุจาราฐบ้านเกิดของเขาก็ถูกกำหนดให้เป็นDry state (ห้ามจำหน่ายสุรา) ทว่าสำหรับวงการวิชาการเขาก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่ถูกวิจารณ์ได้ บางหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัยถึงขั้นมีการนำเอางานเขียนของคานธีมาทำการวิพากษ์กับงานของ B.R.Ambedkar ซึ่งวิพากษ์คานธีว่าเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตยและแนวคิดของเขาที่สืบเนื่องมาจากศาสนาฮินดูมีแนวโน้มจะเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่าคนจน ดังนั้นจุดนี้สังคมไทยน่าจะถือมาเป็นบทเรียนที่ดีว่าการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตั้งอยู่บนหลักการของเหตุและผลน่าจะเป็นสิ่งที่สมควรทำ การเซ็นเซอร์และการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนคือบาปมหันต์ ทว่าหันมองที่สังคมไทยทุกวันนี้ดูเหมือนว่าข้อนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินฝันที่สุด ผมได้แต่หวังว่าบทความจากแดนไกลชิ้นนี้น่าที่จะได้จุดประกายหรือนำไปสู่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์และเชื่อมโยงประเด็นเพื่อหาทางออกให้แก่สังคมการเมืองไทยที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายและถอยหลังเข้าครองอยู่ในปัจจุบันนี้

อ่านประกอบ
ดูแนวคิดของคานธีจาก M.K. Gandhi, Hind Swaraj or Indian Home Rule : translate from Hind Swaraj publish in the Gujarat Columns of Indian opinion 1909
ดูการวิพากษ์คานธีโดยAmbedkarจาก Valeian Rodrigues, The Essential Writings of B.R.Ambedkar
ดูเรื่องการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมถ์จาก ทักษ์ เฉลิมเตรียณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
ดูการต่อสู้ของชนคนผิวดำต่อประเด็นการเหยียดผิวจาก สมร นิติทัณฑ์ประภาศ,สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน(คศ 1945-1980)เล่ม 1