“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ


สมุทรปราการนับเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่มีความใกล้ชิดกับกรุงเทพมหานครที่สุดทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสภาพสังคม พร้อมทั้งขึ้นชื่อในฐานะเมืองแห่งผลประโยชน์ และเขตอิทธิพลของกลุ่มก๊วนต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงสำคัญมากกว่าเมืองแห่งเจ้าพ่อ นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ห้าส่งผลให้สมุทรปราการได้พัฒนาสู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ต่อเนื่องสู่พื้นที่เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่มาพร้อมกับผู้อพยพรุ่นใหม่

สมุทรปราการกลายเป็นส่วนผสมของชุมชนผู้ประกอบการขนาดย่อมชาวไทยเชื้อสายจีนตามโรงงานห้องแถวบริเวณสำโรงพระประแดง กับพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่รองรับผู้อพยพทั้งชาวไทย และแรงงานข้ามชาตินับล้านชีวิต พร้อมกับชุมชนชนชั้นกลางที่จังหวัดเริ่มแบกรับส่วนเกินเชิงปริมาณสำหรับพนักงานปกคอขาวย่านสุขุมวิท รถไฟฟ้าสายอ่อนนุชแบริ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สะพานแขวนขนาดใหญ่ที่เชื่อมร้อยสำโรง ถนนสุขสวัสดิ์ และถนนพระรามสามเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สมุทรปราการเป็นส่วนผสมที่ดูไม่ค่อยลงตัว ระหว่างเมืองที่ทำการผลิตเพื่อการส่งออกในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกกับชุมชนดั้งเดิมในเขตเทศบาล สมุทรปราการกลายเป็นภาพสะท้อนเมืองอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแต่ปราศจากร่องรอยของการต่อสู้ทางชนชั้นในพื้นที่สาธารณะของเมืองนี้
หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพื้นที่ เป็นที่รู้ดีว่า พื้นที่ “ปากน้ำ” เป็นเขตอิทธิพลของตระกูลอัศวเหม วัฒนา อัศวเหม หรือ กิมเอี่ยม แซ่เบ๊ นักธุรกิจเชื้อสายจีน วัฒนาแตกต่างจากผู้มีอิทธิพลตามความเข้าใจทั่วไปที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางตรงข้ามตระกูลอัศวเหม สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการขยายตัวของเมืองสมุทรปราการภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจโลก วัฒนามีความสัมพันธ์กับพรรคชาติไทย และทหารกลุ่มซอยราชครู อันนับเป็นกลุ่มอำนาจสำคัญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน แนวทางเสรีนิยมใหม่ในรัฐไทยนับแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ขณะที่กลุ่มทางการเมืองคู่แข่งกับตระกูลอัศวเหมคือตระกูลรัศมีทัต มีลักษณะที่ค่อนไปทางกลุ่มผู้มีอิทธิพลตามแบบฉบับสังคมไทยมากกว่า โดยเป็นตระกูลที่มีความสัมพันธ์ในระดับตำบลและพื้นที่ชุมชนเดิม และมีฐานอำนาจจากลักษณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเป็นตระกูลรัศมิทัต ที่พรรคไทยรักไทยของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้เป็นฐานคะแนนในจังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นหนึ่งในนโยบาย การใช้รัฐเข้าไปแทนที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา (2544 2547 2550) สมุทรปราการจึงขึ้นชื่อว่าเป็นเขตพื้นที่ของพรรค ไทยรักไทย (พลังประชาชน-เพื่อไทย) มาโดยตลอดซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานเสียงกลุ่มนี้ หากพิจารณาผิวเผินในแง่การเมืองท้องถิ่น จึงเสมือนหนึ่งเป็นเพียงการต่อสู้ของชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ที่ไม่น่ามีอะไรที่แปลกใหม่มากกว่านี้
ในอีกด้านหนึ่ง สมุทรปราการก็มิได้เป็นเมืองที่หยุดนิ่งและตัดขาดจากสภาพสังคมโลก หลายทศวรรษของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก สมุทรปราการเป็นปลายทางแห่งความฝันของผู้อพยพทั้งภายในและระหว่างประเทศหลายหมื่นคนต่อปี ชีวิตความฝันพวกเขารุ่นแล้วรุ่นเล่าทับถมกันในเมืองนี้ แต่การผลิตในสภาพเสรีนิยมใหม่พวกเขาถูกคาดหวังให้เป็นเพียงแค่ผู้ขายแรงงานแลกค่าจ้าง และค่าจ้างขี้นต่ำในประเทศไทยถูกคิดอยู่บนฐานของการให้ผู้ใช้แรงงานอยู่รอดไปวันๆ มากกว่า เรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
ฉากแห่งความยากจนที่ถูกผลิตซ้ำในเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตจึงเปลี่ยนผ่านจากท้องนาอันแห้งโหย สู่ชีวิตและความฝันของคนงานชานเมือง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี บางบ่อ กลายเป็นปลายทาง และแหล่งขูดรีดแรงงาน ทั้งในแง่มูลค่าส่วนเกินปริมาณมหาศาล พร้อมการสร้างความแปลกแยกภายในแก่ผู้ใช้แรงงานด้วยความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สมุทรปราการกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของคนเสื้อแดง รัฐบาลไทยรักไทยต่อเนื่องจนพรรคเพื่อไทย เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมร้อยชีวิตแร้นแค้นของเกษตรรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาในชนบท และชีวิตความฝันอันค้างเติ่งในโรงงานชานเมือง ลำพังพรรคไทยรักไทยเองคงไม่มีพลังพอที่จะจุดประกายไฟนี่ได้เท่ากับ การรัฐประหารและการดูถูกดูแคลนของชนชั้นกลางในเมืองพร้อมการตบหน้าชนชั้นล่างด้วยการสนับสนุนการสลายการชุมนุมเพื่อรักษาห้างสรรพสินค้าและถนนธุรกิจของคนรวยต่อไป สมุทรปราการนับเป็นจังหวัดที่น่าจะมีศักยภาพในการสร้างเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อประโยชน์ชนชั้นล่าง
การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมาเป็นการประชันระหว่าง ตระกูลอัศวเหมเจ้าพ่อท้องถิ่นระดับชาติ ตระกูลรัศมิทัต นักการเมืองท้องถิ่นที่เปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่งอดีตสมาชิกสภาจังหวัด และเป็นน้องสาวกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ. พรรคเพื่อไทยแพ้ในเขตที่เชื่อว่าเป็นเขตอิทธิพลของตนเองเช่นเดียวกับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในหลายเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้จะมีคะแนนในระดับที่มีนัยสำคัญก็ตาม ผลการเลือกตั้งจบลงที่ตระกูลอัศวเหมชนะการเลือกตั้ง อันดับสองตระกูลรัศมิทัต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้อันดับที่สาม สัญญาณการเลือกตั้งที่สมุทรปราการสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับเงื่อนไขการเมืองไทยในปัจจุบัน
ปัญหาสำคัญที่ต้องขบคิดคือ ใครคือ ”คนสมุทรปราการ” ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าแปดแสนคนหมายถึงใคร ดังที่ได้เรียนไปข้างต้น สมุทรปราการเป็นส่วนผสมของเมืองรุ่นเก่า ที่มีลักษณะตามมาตรฐานของพื้นที่เมืองของต่างจังหวัดไทยทั่วไปเช่น การมีตลาด วัดเป็นศูนย์กลาง โดยที่ผู้อยู่อาศัยถาวรในเขตเมืองโดยมากเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเชื้อสายจีน ตามตึกแถวพาณิชย์ที่คุ้นเคย ลักษณะนี้ปรากฏในพื้นที่สำโรง พระประแดง และพระสมุทรเจดีย์ โดยที่คนงานโดยมากเป็นแรงงานอพยพภายในประเทศที่มักไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองท้องถิ่นแม้อยู่ในพื้นที่มาเป็นนเวลานานแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและต่อสู้ในชีวิตประจำวัน แต่ประชาชนส่วนมากกลับไม่สามารถมีส่วนได้เสียกับการเมืองระดับท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ บทสรุปจากการเลือกตั้งสมุทรปราการอาจสามารถวิเคราะห์เงื่อนไขการเลือกตั้งที่จะถึงได้ดังนี้
  1. ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พรรคการเมืองไทยมีการพัฒนาจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดจากการต่อรองของคนในพื้นที่สู่ การเป็นพรรคในฐานะอุดมการณ์ที่มีความแหลมคมมากขึ้น พรรคของคนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของการต่อต้านสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐานและไม่เห็นหัวคนชั้นล่าง แต่ในขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเองก็มิได้มีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อเงื่อนไขชีวิตประจำวันของชนชั้นล่างอย่างเต็มที่ นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นผู้ลงคะแนนเลือกที่จะให้คะแนนแก่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่เข้าใจว่าสามารถดูแลปัญหาชีวิตประจำวันได้ดีกว่า อันเป็นโจทย์สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่จำเป็นต้องพัฒนาระบบพรรคสู่พรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนชัดเจน มากกว่าพรรคในลักษณะเหวี่ยงแหในปัจจุบัน
  2. การตั้งเป้าว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ตามมาตรฐานของการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 อาจเป็นการตั้งเป้าที่คลาดเคลื่อน เพราะต้องอย่าลืมว่าพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชนเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยังคงมีฐานจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น มากกว่าอุดมการณ์ของมวลชนในระดับชาติดังที่เริ่มปรากฏชัดในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยผู้มีอิทธิพลกลุ่มนั้นส่วนหนึ่งได้เข้าสนับสนุนพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการต่อสู้กับโครงสร้างชนชั้นระดับชาติแล้ว ยังต้องฝ่าวงล้อมโครงสร้างชนชั้นในระดับท้องถิ่นไปพร้อมกัน ดังนั้นยุทธศาสตร์ชัยชนะเชิงพื้นที่จึงไม่สำคัญเท่ายุทธศาสตร์การสร้างอำนาจนำเชิงชนชั้น
  3. บทสรุปสำคัญในการมีชัยชนะเหนือพื้นที่ท้องถิ่นที่พรรคเพื่อไทยควรจะเรียนรู้คือ การพัฒนานโยบายและอุดมการณ์ของพรรคให้เป็นประโยชน์แก่ฐานมวลชนหลัก อันได้แก่ชนชั้นล่างในประเทศอย่างแท้จริง การเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนโดยการพัฒนารัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำโดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ควบคู่กับความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของมวลชนต่อทิศทางของพรรค สิ่งนี้จะทำให้อุดมการณ์และนโยบายของพรรคในฐานะรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ เข้าแทนที่ความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อและระบบอุปถัมภ์แบบอิงตัวบุคคลในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ
พรรคเพื่อไทยอาจจะได้เสียงข้างมาก ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หากพรรคไม่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของประชน สำนึกแห่งการต่อต้านความเหลื่อมล้ำสู่ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่ตอบสนองเงื่อนไขการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน เช่นสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพ การเก็บภาษีทางตรงจากชนชั้นอภิสิทธิ์ชนในสังคม หรือการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรอันเป็นการท้าทายประโยชน์ของชนชั้นสูงและสร้างประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ หากพรรคไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์เบื้องต้นนี้ได้ ชัยชนะที่อาจจะเกิดขึ้นก็จะเป็นเพียง ชัยชนะยิ่งใหญ่ที่ไร้ความหมาย จะเป็นเพียงแค่การตบหน้าอำมาตย์ แต่หากไม่สามารถสร้างฐานมวลชนที่แข็งแกร่งได้ มันก็จะกลายเป็นเพียงแค่เชิงอรรถอธิบายประวัติศาสตร์ก่อนการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศนี้
เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
สะพานภูมิพลที่เชื่อมพื้นที่สำโรง เข้ากับถนน สุขสวัสดิ์และพระรามสาม
เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ลูกชายวัฒนา อัศวเหม ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงประมาณ 1.5แสนคะแนน
เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้อันดับสาม ทิ้งห่างจากอันดับหนึ่งประมาณสามหมื่นคะแนน
คลิปรายงานผลการเลือกตั้งสมุทรปราการ