“กลุ่มประกายไฟ” (Iskra Group)

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รวมข่าวเสวนา: บททดสอบภาคประชาชน เมื่อสิทธิการชุมนุมถูกปราบโดยรัฐ




ประชาไทรายงาน : เสวนา: บททดสอบภาคประชาชน เมื่อสิทธิการชุมนุมถูกปราบโดยรัฐ
Mon, 2009-10-19 02:00




18 ต.ค.52 กลุ่มประกายไฟ จัดเสวนา เรื่อง “บททดสอบภาคประชาชน เมื่อสิทธิการชุมนุมถูกปราบโดยรัฐ” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว



ตัวแทนชาวบ้านหนองแซง กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมบนท้องถนน และเป็นการเรียกร้องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมหาทางออก เนื่องจากชาวบ้านรู้สึกถึงทางตัน ไม่มีหน่วยงานใดๆ สนใจปัญหาของพวกเขา และยืนยันการชุมนุมดังกล่าวไม่มีแกนนำ หากแต่เป็นความรู้สึกเก็บกดของชาวบ้านในพื้นที่ที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหนองแซงยังคงจะต่อสู้ต่อไปตามช่องทางต่างๆ ที่มี เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิทธิของประชาชนในพื้นที่

ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลแต่ไม่มีใครออกมารับหนังสือ และอยู่ระหว่างประสานให้มีตัวแทนออกมารับการร้องเรียน บรรยากาศการชุมนุมก็เป็นไปแบบสบายๆ ไม่ได้สร้างแรงกดดันใดๆ

นายอานนท์ นำภา ทนายความจากสำนักกฎหมายมีสิทธิฯ กล่าวว่า ในวันอังคารนี้ (20 ต.ค.) จะยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับกรณีแรงงานไทรอัมพ์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้คัดสำเนาหมายจับและคำร้องขอออกหมายจับของพนักงานสอบสวน ซึ่งน่าจะเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาก็ตาม อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่ากระบวนการออกหมายจับของไทยยังมีปัญหาอยู่มาก และจุดมุ่งหมายของการออกหมายจับก็มักมุ่งไปที่การทำให้ประชาชนประสบความยุ่งยากจนไม่สามารถไปเคลื่อนไหวอะไรได้

“ พ.ร.บ.กรชุมนุมสาธารณะที่จะออกมาก็น่าเป็นห่วง ทุกฝ่ายควรจับตาอย่างใกล้ชิด” อานนท์กล่าวและว่าวิธีแก้ปัญหานี้อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเจ้าหน้าที่และสังคม ตลอดจนทำให้วิถีการปกครองประเทศเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้

อุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ยุทธวิถีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทุกกลุ่มมักจะดำเนินการผ่านช่องทางต่างๆ ตามปกติมาจนหมดแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถส่งเสียงสู่สังคมหรือส่วนที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาได้ จึงต้องเคลื่อนไหวโดยพยายามทำให้กลไกต่างๆ ของสังคมหรือรัฐ ไม่สามารถทำงานได้เพื่อดึงความสนใจของส่วนต่างๆ มายังปัญหาของพวกเขา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นความชอบธรรมของชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาสตลอดมา

แต่หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้เรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างสำคัญของกลุ่มประชาชนและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ อยู่ที่เป้าหมาย ซึ่งสำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ นั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่เป็นปัญหากับระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้ทำให้รัฐเป็นรัฐที่ล้มเหลว อีกทั้งการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งก็ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมานักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถนัดที่จะด่ารัฐเวลามีการปะทะกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีความจริงสอดคล้อง วันนี้มันซับซ้อนมากขึ้น ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมาจากเจ้าหน้าที่รัฐเสมอไป” อุเชนทร์กล่าว

เขากล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์วันนี้ซับซ้อนมากขึ้นและทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเริ่มเป็นจำเลยในบางกรณี อีกทั้งเกิดความแตกต่างกันระหว่างการจัดการกับการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ จึงเห็นสมควรให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ใช่แบบที่รัฐบาลผลักดัน ทำให้ผู้ชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนและสร้างเงื่อนไขต่างๆ มากมาย แต่ต้องเป็นกฏหมายที่ปกป้องสิทธิการชุมนุมของประชาชนให้เท่ากันทุกกลุ่ม และกำหนดขอบเขตว่าการชุมนุมที่เกินเลยไปจะไมได้รับการคุ้มครอง เช่น การพกพาอาวุธ และหากจะมีการสลายการชุมนุมก็ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน

“การมีมาตรฐานแบบนี้อาจดีในแง่ที่ว่ามันปกป้องสิทธิการชุมนุมของคุณเท่ากันทุกคน ตั้งแต่องคมนตรีถึงคนเก็บขยะ” อุเชนทร์กล่าว

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องมาจากกรณี 3 ผู้นำที่ชุมนุมที่เชียงรายเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังถูกจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เมื่อ 23 กรกฎาคม 2552 หลังจากนั้นเพียงเดือนเศษ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ที่เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรับบาลบริเวณหน้าทำเนียบและรัฐสภา ในวันที่ 27 สิงหาคม ถูกสลายการชุมนุมด้วยเครื่องทำลายประสาทหูหรือ LRAD และถูกออกหมายจับ 3 แกนนำ ด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เช่นเดียวกับคนขายหวยจากจังหวัดเลยที่มาประท้วงกระทรวงการคลังไม่จัดสรรโควตาสลาก เมื่อวันที่ 23 กันยายน ล่าสุด กรณีแกนนำชาวบ้านหนองแซง จังหวัดสระบุรี 6 คนถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาปิดถนนทางสาธารณะ ภายหลังการชุมนุมบนถนนสายพหลโยธินตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2552 และได้ยุติการชุมชนในวันที่ 25 กันยายน 2552 เพื่อแสดงตัวตนและสื่อสารต่อสาธารณะของชาวบ้านที่เป็นเหยื่อของการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ

ที่มา ประชาไท


สำนักข่าวไทยรายงาน :เอ็นจีโอ หนุน พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ

ราชดำเนิน 18 ต.ค. - เอ็นจีโอ หนุน พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ชี้คือทางออกชุมนุมอย่างไรไม่ถูกจับ เผยปัญหา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ชาวบ้าน-คนงานปิดถนน เรียกร้องสิทธิถูกจับติดคุก ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองทำได้

ในงานเสวนาเรื่องบททดสอบภาคประชาชน เมื่อสิทธิการชุมนุมถูกปราบโดยรัฐ จัดโดยกลุ่มประกายไฟ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ นางปฐมมน กัลหา ตัวแทนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง กล่าวว่าการชุมนุมของชาวบ้านที่ผ่านมา ไม่ได้ต้องการปิดถนนให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่เป็นการแสดงออก เพื่อขอความเป็นธรรมบนท้องถนน หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ แต่ผลที่ได้รับทำให้ชาวบ้าน 6 คนถูกออกหมายจับ ซ้ำแกนนำ 3 คนที่ถูกจับกุม กลับไม่ได้รับการประกันตัวในตอนแรก สะท้อนการใช้อำนาจของรัฐที่เลือกปฏิบัติ เพราะผู้ต้องหาฆ่าคนตายยังได้รับการประกันตัว แต่พวกตนต่อสู้เรียกร้องเพื่อวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิม กลับถูกจับเข้าคุก

ด้าน น.ส.บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า กรณีของคนงานไทรอัมพ์ ชุมนุมเรียกร้อง เพราะถูกเลิกจ้างเกือบ 2,000 คน เมื่อมาทวงถามความคืบหน้าที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาหลังจากยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและกระทรวงแรงงานช่วยเหลือไปแล้วเกือบ 20 วันกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เครื่องขยายเสียงความถี่สูง หรือ แอลแรด เปิดใส่ทำให้คนงานได้รับบาดเจ็บ หูชั้นกลางอักเสบนับ 10 คน จากนั้นแกนนำยังถูกออกหมายจับ อีก 3 คน นับเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะการชุมนุมเรีกร้องเพื่อปากท้องของตนกลับได้รับการปฏิบัติอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่

นายอุเชน เชียงเสน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและการรวมตัวของชาวบ้าน กล่าวว่าทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน รวมไปถึงกรณีอื่นๆ เช่น ม็อบชาวนาที่จังหวัดเชียงราย ที่ล่าสุดถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ทำให้สังคมต้องกลับตั้งคำถามว่า การใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ ยังสามารถทำได้อยู่หรือไม่ เพราะปัญหาเกิดขึ้นเมื่อนำไปเทียบกับการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมา ที่มีการยึดสนามบิน กลับไม่ถูกจับกุมและคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น ตนอยากสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อให้การชุมนุมนับจากนี้เกิดความชัดเจน.

ที่มา สำนักข่าวไทย อัพเดตเมื่อ 2009-10-18 16:28:40 http://news.mcot.net/social/inside.php?value=bmlkPTEyMDk3NCZudHlwZT10ZXh0

ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงาน : เครือข่ายภาค ปชช.จัดเสวนาเรียกร้องการรวมตัวต่อสู้อำนาจรัฐ

เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสิทธิการชุมนุมทางกฎหมาย เรียกร้องให้เกิดการรวมตัวเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เห็นความสำคัญของประชาชน ส่วนหนึ่งของการเสวนาแบบทดสอบภาคประชาชน เมื่อสิทธิการชุมนุมถูกปราบโดยรัฐ

น.ส.ปฐมมล กันหา ตัวแทนกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม กำลังถูกภาครัฐจับกุมและฟ้องร้องแกนนำแต่ละคน และมีคดีติดตัวอย่างน้อยคนละ 3-5 คดี โดยอ้างว่าการปิดเส้นทางสาธารณะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ วิธีการหรือกฎหมายที่รัฐบาลใช้กับชาวบ้าน เป็นคนละมาตรฐานที่ใช้กับนายทุน

เช่นเดียวกับกรณีของแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากไปยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา ถูกทำการสลายการชุมนุมด้วยเครื่องทำลายประสาทหู และถูกตำรวจออกหมายแกนนำ 3 คน ในข้อหาก่อความวุ่นวายให้บ้านเมือง

น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เปิดเผยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนมาจากรัฐบาลทั้งสิ้น ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ดังนั้นผู้ที่เดือดร้อนควรจะรวมตัวกันต่อรองกับอำนาจรัฐ หรือเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ

ที่มา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000123930